“วันนอร์” คาด 13 ก.ค. ประชุมรัฐสภา โหวตเลือก “พิธา” เป็นนายก
“วันนอร์” คาดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวต “นายกรัฐมนตรี” 13 ก.ค.นี้ ลุ้นเสียงหนุน “พิธา” ให้เกินครึ่ง
วันที่ 5 ก.ค. 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติหน้าที่ โดยเชิญนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ มาหารือ เบื้องต้นได้เตรียมการเรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 1-2 วัน ต่อมาคือการเปิดประชุมสภาฯ นัดต่อไป ที่เบื้องต้นจะกำหนดในวันที่ 12 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาการกำหนดวันประชุมของสภาฯ ประจำสัปดาห์ ซึ่งต้องรอสอบถามความคิดเห็นของ ส.ส. ว่าจะประชุม 2 หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ รวมถึงให้ ส.ส.ที่ไม่ได้กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ มาดำเนินการให้ครบถ้วน
ส่วนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภาแล้ว เบื้องต้นจะกำหนดการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฏาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยเลขาธิการสภาฯ จะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน
สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนตามเกณฑ์นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า การโหวตนายกฯ อาจผ่านและได้ครบ 376 เสียงในการโหวตครั้งเดียวก็ได้ แต่หากไม่ครบ ก็ต้องพิจารณาในการประชุมรอบต่อไป ซึ่งรัฐสภาต้องประชุมจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี หากนายพิธาได้ ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรี เพื่อไปบริหารประเทศ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากพูดอย่างเป็นกลาง พรรคร่วม 8 พรรครวมกันได้แล้ว 312 เสียง แต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งเท่ากับยังขาดอีก 64 เสียง หากไม่ได้ก็ต้องนัดโหวตในครั้งต่อไป โดยจะคำนึงถึงความพร้อมของสมาชิกที่เข้าประชุม เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมประชุมกันครบถ้วน
ส่วนกรณีโหวตครั้งต่อไปจะเสนอชื่อแคนดิเดตคนเดิมได้หรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่ต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.รับรอง และมีชื่ออยู่ในบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมือง หากรายชื่อทั้งหมดไม่ผ่านตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะเสนอชื่อคนนอกได้ แต่ต้องได้เสียงมากกว่า 2 ใน 3 หรือ 376 เสียง
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองที่ตกลงจะเป็นรัฐบาล 8 พรรค สนับสนุนหัวหน้าพรรคที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เป็นนายกฯ เป็นข้อตกลงของ 8 พรรค แต่การโหวตนายกฯ เป็นเรื่องของรัฐสภา ที่มี ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีเกณฑ์คะแนน 376 เสียง ซึ่งการลงมติดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะลงมติ แต่หากเป็นเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีปัญหา เพราะมีเสียงข้างมาก 312 เสียง