ส่องฉากทัศน์ “การเมือง” ก่อนวันเลือก “นายกฯ” คนที่ 30
ต้องยอมรับว่า 24 ชั่วโมง ก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เจอศึกรอบด้านจากหลายคดี ที่ส่งผลต่อคุณสมบัติ จนอาจจะทำให้หมดโอกาสที่จะได้เสียงข้างมากเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จนมีคำถามว่า การเมืองไทยนับจากนี้จะเดินต่อไปอย่างไร
กลายเป็น 24 ชั่วโมงของการเมืองไทยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเรียกได้ว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้เป็นรายนาที ก่อนจะถึงเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แม้ว่าพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จะรวบรวมเสียงส่วนใหญ่เข้ามาเป็นกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นคนที่ถูกเสนอรายชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่นับถึงเวลานี้เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาล อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาย เพราะไม่เพียงแต่จะต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 376 เสียงเท่านั้น ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 67 ส.ว. แต่ตอนนี้ยังมีประเด็นที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ลงดาบปมปัญหาการถือหุ้น ITV ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังไม่นับรวมปมศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยปมปัญหาการหาเสียงของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่นำเรื่องการแก้ไข ม.112 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ที่แม้เวลานี้ทั้ง 2 เรื่องจะไม่มีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด แต่นายพิธา ถือว่ามีรอยด่างในสายตา ส.ว. เหมือนของที่มีตำหนิไปแล้ว และไม่อาจคาดเก่าได้ว่า บทสรุปการเมืองหลังจากนี้จะออกมาอย่างไร
เมื่อพิจารณาสูตรทางการเมืองที่ไม่ไปได้เวลานี้ จากเดิมที่มีการตั้งสมมุติฐานและฉากทัศน์ไว้ 4 รูปแบบเริ่มตั้งแต่ ภาพที่ 1 “ก้าวไกล”จับมือ “เพื่อไทย” และพรรคร่วมอื่น รวมกันแล้ว 8 พรรค มีนายพิธาเป็นนายก // ส่วนภาพที่ 2 “ก้าวไกล” ยังจับมือ “เพื่อไทย” พร้อมด้วยพรรคร่วมอื่น รวมกันแล้ว 8 พรรค แต่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล // ส่วนภาพที่ 3 “ก้าวไกล” จะเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่ “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการจับขั้วกลุ่มอำนาจเก่า // และภาพที่ 4 คือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าทุกฉากทัศน์มีโอกาสเป็นไปได้ หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศวางมือทางการเมือง
ในมุมมอง ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตอนนี้ คิดว่าแม้ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ท่าทีของ ส.ว บางส่วนก็ไม่เอาด้วย เพียงแต่ข้อมูลตอนนี้เป็นข้ออ้างสนับสนุนที่จะไม่โหวตนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่ถามว่าเป็นได้หรือไม่ที่จะทำให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาไปเป็นฝ่ายค้าน ตรงนี้ต้องบอกว่ายังไม่สุกงอมพอ เพราะยังมี MOU บรรจุเอาไว้เรื่องข้อตกลงของ 8 พรรค
“ส่วนฉากทัศน์ในตอนนี้ต้องบอกว่ายังอยู่ในภาพเพียงแค่ 1 กับ 2 เพราะถ้าเกิดการพลิกขั้วที่จะเป็นฉากทัศน์ที่ 3 นั้นก็จะเกิดวิกฤตการเมืองขั้นรุนแรง และเพื่อไทยจะเสียมวลชนไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่ามีความสุ่มเสี่ยงสูงมาก และยืนยันว่าฉากทัศน์ที่ 4 นั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นไปได้” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว
ส่วนมุมมองจากภาคตลาดทุนนั้น นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มองว่า ภาพฉากทัศน์ในตอนนี้ ถ้าเป็นบวกต่อตลาดมากที่สุดนั้นน่าจะเป็นการที่เพื่อไทยกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล โดยที่มีเพื่อไทยเป็นผู้นำ ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่น เพราะเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการที่ก้าวไกลมานำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะทำให้ตลาดคลายความกดดันได้เช่นกัน
“แต่ถ้าเป็นภาพที่ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับขั้วอำนาจเก่า ตลาดก็อาจจะฟื้นได้ แต่มีแรงกังวลในเรื่องความเสี่ยงประชาชนที่อาจจะไม่พอใจ ต้องดูเรื่องการเมืองนอกสภาด้วย ส่วนเรื่องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อันนี้ถือว่าเกิดยาก ไม่น่าเป็นไปได้” นายกรภัทร กล่าว
นายกรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตอนนี้ตลาดเองต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ถ้าความชัดเจนเกิดขึ้นใน 7 วันข้างหน้า ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ SET ก็อาจจะมีการขยับไปที่ 1,480-1,470 เป็นแนวรับ ส่วน 1,720 เป็นแนวต้านถึงสิ้นปี ถ้าเกิดโซลูชั่นถัดมากรอบก็แคบกว่านั้น กรอบบน 1,650 กรอบล่าง 1,450-1,440 แต่ถ้าเป็นเคสที่ไม่คาดคิดก็อาจจะทำให้กรอบด้านบนต่ำลงได้อีก.