SCC เจรจาพันธมิตรใหม่ร่วมทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม หลังรายเดิมถอนตัว

SCC เจรจาพันธมิตรใหม่ร่วมทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม หลังรายเดิมถอนตัว เชื่อ PTT อาจยกเลิกการขายแนฟทาให้กับเครือซิเมนต์ไทยในอนาคต ไม่มีผลกระทบ เนื่องจากสามารถนำเข้าแนฟทาจากต่างประเทศได้


นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า บริษัทเจรจาหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม หลังจากที่ Qatar Petroleum ขอถอนตัวการลงทุนในโครงการ โดยกำลังเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย ขณะที่โครงการมีความคืบหน้าไประดับหนึ่งแล้วหลังการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

โดยการเจรจากับพันธมิตรใหม่เพื่อเข้าร่วมทุนนั้น เปิดกว้างการเจรจากับพันธมิตรทุกกลุ่มไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรในธุรกิจน้ำมัน รวมถึงเปิดกว้างทั้งในส่วนของสัดส่วนการร่วมลงทุน แต่ยังยืนยันที่เครือซิเมนต์ไทยจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ ขณะที่สัญญาการรับเหมาก่อสร้างจะมีอายุถึงประมาณกลางปี59  ซึ่งหากโครงการไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในกลางปีหน้า ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับเหมาใหม่ต่อไป

อนึ่งเมื่อเดือนพ.ย. QPI Vietnam (QPIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Qatar Petroleum International และเป็นผู้ถือหุ้น 25%ในโครงการLong Son Petrochemicals ทางตอนใต้ ของประเทศ  ได้แจ้งถอนตัวจากการร่วมลงทุน ขณะที่โครงการดังกล่าวมีกลุ่ม SCC ถือหุ้นใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 46% ขณะที่ PetroVietnam และ Vinachem ถือหุ้นร่วมกัน 29%

ก่อนหน้านี้ SCC คาดว่าจะสรุปแผนลงทุนและแผนการเงินของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนามได้ทั้งหมดในช่วงไตรมาส 1/59 โดยเบื้องต้นคาดว่ามูลค่าโครงการอาจจะมากกว่าเดิมที่ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเล็กน้อย

ด้านแหล่งข่าวจาก SCC กล่าวถึงแผนงานของธุรกิจปิโตรเคมีในปี 59 ว่า ธุรกิจปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทยจะไม่ปิดซ่อมบำรุงโรงงานของระยองโอเลฟินส์ หลังจากได้เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงไปเป็นต้นปี 60 โดยจะปิดเป็นเวลา 40 วัน จากเดิมจะปิดในช่วงปลายปี 59 เนื่องจากไม่ต้องการให้ตรงกับช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงงานปิโตรเคมีของกลุ่มบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) พร้อมกันนี้ก็จะมีการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์อีกเล็กน้อยด้วย

ส่วนการที่กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อาจจะยกเลิกการขายแนฟทาให้กับเครือซิเมนต์ไทยในอนาคต เพราะต้องการนำแนฟทาไปต่อยอดการผลิตปิโตรเคมีของกลุ่มปตท.เองนั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของเครือซิเมนต์ไทย แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นผู้ซื้อแนฟทาจากกลุ่มปตท.ก็ตาม เพราะเชื่อว่าจะสามารถนำเข้าแนฟทาจากต่างประเทศได้จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าอยู่ราว 40% และซื้อจากในประเทศ 60%

Back to top button