อัพเดท! 21 ชั่วโมงศึกชิงคลื่น 900 MHz ยอดทะลุ 7 หมื่นลบ.
ประมูลคลื่น 900 MHz ยืดเยื้อล่าสุด รอบ 66 ราคาทั้ง 2 ใบ ขยับมาที่ 35,726 ลบ./ใบ โดย 4 ค่ายสู้ไม่ถอย ด้านกสทช.คาดหากประมูลถึงระยะเวลา 17.00 น. ราคาจะขยับมาที่ 40,000 ลบ./ใบ และหากดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 21.00 น. ราคาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 43,000 ลบ./ใบ ทำให้มีราคารวมราว 86,000 ลบ.
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้จะเห็นว่ามีการสู้ราคากันอย่างต่อเนื่องของผู้เข้าประมูลทั้ง 4 ราย สะท้อนว่าผู้ประกอบการทุกรายที่มีความต้องการคลื่นดังกล่าวอยู่
ด้านพ.อ.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.กล่าวว่า การประมูลได้ดำเนินการผ่านไปแล้วกว่า 21 ชั่วโมง และช่วงเที่ยงวันนี้มีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 210% ทำให้มีรายได้จากการประมูลคลื่น 900 MHz ที่จะนำส่งเข้ารัฐแล้วทั้งสิ้น 68,232 ล้านบาท อาจจะเป็นเพราะคลื่น 900 MHz มีการปรับการยืดหยุ่นในการชำระเงินประมูล
ทั้งนี้ กรณีที่ราคาประมูลสูงสุดมากกว่า 16,080 ล้านบาท ให้แบ่งจ่ายเป็น 4 งวด โดยงวดแรก ชำระ 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันทางการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล และ งวดที่สอง ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันทางการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สามและงวดที่สี่ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่หนึ่งภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สอง
ส่วนงวดที่สาม ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันทางการเงิน เพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สี่ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช.จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่สองภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สาม
และงวดที่สี่ ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วันเมื่อครบกำหนดระยเวลาสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยสำนักงาน กสทช.จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่สามภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่สี่
“คลื่น 900 MHz มีการปรับความยืดหยุ่นในการชำระเงินประมูล ทำให้กระแสเงินสดของโอเปอร์เรเตอร์สมารถนำมาสู้กันในการประมูลได้ ก็ถือว่าเป็นผลดีที่เห็นได้ชัด เพราะว่าการจ่ายค่าคลื่อนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในคลื่นดังกล่าว”รองประธาน กสทช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังไม่สิ้นสุด และไม่ทราบว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่มองว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตนี้ไปจะส่งผลดีต่อการให้บริการเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในอนาคตจะต้องใช้คลื่นผสมกันในหลายย่านความถี่เพื่อส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีมากเท่าไหร่ก็จะได้เปรียบในการแข่งขันมากเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากในขณะนี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ท่าทีของการประมูลยังคงมีการสู้ราคากันทั้ง 4 รายไม่มีรายใดถอย โดยคาดว่าหากการประมูลดำเนินไปถึงระยะเวลา 17.00 น. ราคาจะขยับมาที่ 40,000 ล้านบาท/ใบ และหากดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 21.00 น. ราคาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 43,000 ล้านบาท ทำให้มีราคารวมราว 86,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
ทั้งนี้ ล่าสุดรอบ 66 ราคาทั้ง 2 ใบ ขยับมาที่ 35,726 ลบ./ใบ และรอบ 67 ราคาทั้ง 2 ใบขยับมาที่ 36,048 ลบ./ใบ
อนึ่ง ผู้เข้าร่วมประมูล 4 รายดังนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ได้แก่
1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS
2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC
และ 4. บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE