TFM วิ่ง 4% รับกำไร Q2 โต 42% รับยอดขายพุ่ง ครึ่งปีหลังขยายตลาดเต็มสูบ
TFM บวกกว่า 4% หลังโชว์กำไร Q2/66 โตแกร่ง จับสัญญาณธุรกิจ "อาหารกุ้ง" โดดเด่น เตรียมแผนขยายตลาดต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ส.ค.66) ราคาหุ้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM อยู่ที่ระดับ 8.20 บาท บวก 0.35 บาท หรือ 4.46% สูงสุดที่ระดับ 8.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 8.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 0.37 ล้านบาท
โดยราคาหุ้น TFM ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง หลังรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 และงวด 6 เดือนแรกของปี 66 มีกำไรสุทธิเติบโต ดังนี้
ทั้งนี้บริษัทมียอดขายที่ 1,343.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กำไรขั้นต้น 122.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.7% และกำไรสุทธิ 47.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.6% ทั้งนี้ในไตรมาส 2/66 บริษัทมีบันทึกรายการพิเศษเป็นการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ ฟาร์มทดลองที่จังหวัดตรังจำนวน 20 ล้านบาท เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากลงทุน (BOI) ได้ครบกำหนด ซึ่งหากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษนี้แล้วบริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 67.8 ล้านบาท
ทั้งนี้หากมองเปรียบเทียบผลการดำเนินประจำไตรมาส 2 กับไตรมาสก่อนหน้าบริษัทสามารถโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยพลิกฟื้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุนมาเป็น กำไรสุทธิ 47.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 272.3% ในขณะที่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 156.4% และยอดขายเพิ่มขึ้น 16.6% จากไตรมาสแรกของปี
ด้าน นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวถึงแนวทางการบริหารบริษัทตั้งแต่ต้นปี 66 ว่า บริษัทได้มีความพยายามในการปรับปรุงและปรับระบบในการบริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการต้นทุน และการควบคุมการผลิตสินค้า เพื่อให้มีคุณภาพที่ดี รวมถึงไปการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสดใหม่ของอาหาร
รวมไปถึงคุณภาพอาหารที่จะช่วยให้สัตว์น้ำเติบโตได้ดี ในอัตรา FCR (Feed Conversion Ratio) ที่ต่ำ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถมีกำไรและเป็นพันธมิตรที่ดีกับบริษัท ตลอดจนการผนึกกำลังกับธุรกิจต่างๆ ในกลุ่มของไทยยูเนี่ยน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและขยายธุรกิจไปยังโอกาสใหม่ๆ และช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ ยอดขายของ TFM มีสัดส่วนมาจากธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารกุ้ง 60.6% ธุรกิจอาหารปลา 29.3% ธุรกิจอาหารสัตว์บก 8.7% และอื่นๆ 1.4% โดยในไตรมาส 2/66 ธุรกิจอาหารกุ้งมียอดขายอยู่ที่ระดับ 813.9 ล้าน เพิ่มขึ้น 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากการปรับกลยุทธ์การขายที่เน้นสินค้าพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าปริมาณการขายอาหารกุ้งยังคงอยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านที่ 25,249 ตัน เพิ่มขึ้นเพียง 0.7%
สำหรับธุรกิจอาหารปลามียอดขายอยู่ที่ระดับ 394 ล้านบาท ลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่ายอดขายอาหารปลาในประเทศจะยังทรงตัวได้ดีจากกลยุทธ์การขายที่เน้นอาหารปลากะพง แต่ยอดขายอาหารปลาของบริษัทในประเทศปากีสถานมีการปรับลดตัวลงส่งผลให้ยอดขายในส่วนนี้ลดลงไปด้วย สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์บก มียอดขายอยู่ที่ 116.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในประเทศปากีสถาน
“เราใช้วิธีคิดและแนวทางการบริหารจัดการแบบครบวงจรเข้ามาปรับใช้ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพของสินค้าและบริการ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในการสร้างความไว้วางใจกับลูกค้าในระยะยาวซึ่งในสถานการณ์ที่วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น การบริหารจัดการกลุ่มสินค้าก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ
โดยจะไม่ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ไม่ทำกำไร การบริหารจัดการต้นทุนจึงเป็นการวิเคราะห์ต้นทุนและวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทำให้เราสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ในไตรมาสนี้ ในครึ่งปีหลังของปีเรายังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจทุกรูปแบบเพื่อให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย” นายพีระศักดิ์ กล่าว