ไม่จบง่ายๆ ประมูล 900 MHz รอบ 108 ราคาพุ่งเฉียดแสนล้าน
กทค.เผยผู้เข้าประมูล 900 MHz ครบ 4 รายสู้ราคาสกัดรายใหม่-จัดการคู่แข่ง คาดว่ามีโอกาสที่ราคาประมูลในครั้งนี้จะแตะสถิติโลกหากยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงวันที่ 18 ธ.ค.นี้ ด้านกสทช.เผยมีผู้เข้าร่วมประมูลบางรายขอให้มีการเคาะราคาติดเทอร์โบ หรือเคาะราคาในแต่ละรอบสูงขึ้นได้เป็น 10 เท่าของช่วงราคาที่กำหนดให้เคาะขึ้นไปในแต่ละครั้งจำนวน 322 ล้านบาท แต่กสทช.ยังไม่ได้มีการพิจารณาอนุญาต
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เปิดเผยว่า จากผลประมูลรอบล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมประมูลอยู่ครบ 4 ราย และระดับความต่างของราคาใบอนุญาตที่ 1 และ 2 ทำให้คาดว่าจะมีการเคาะราคาประมูลกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้เห็นสงครามการแข่งขันราคาเพื่อกันรายใหม่เข้าสู่ตลาด และจัดการคู่แข่งที่เป็นรายเก่าที่ไม่ได้คลื่น1800MHz ในการประมูลเมื่อพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อจะได้เหลือรายใหญ่ในตลาดเพียง 2 รายในระหว่างที่ยังไม่มีความแน่นอนในการเปิดประมูลคลื่น 1800MHz รอบต่อไปหลังปี 61 เพราะจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว
และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตให้กับผู้ที่ชนะประมูลที่ กทค.ได้ผ่อนคลายระยะเวลา เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีการเคาะราคาขึ้นไปสูงอย่างต่อเนื่อง
“ขณะนี้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ราคาขึ้นไปเกือบถึง5หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่นที่มีความยืดหยุ่นต่างจากเงื่อนไขการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ 1800MHz”นพ.ประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากราคาประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ยังไม่เกิน 2 เท่าของราคาคลื่นความถี่ 1800MHz ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะยังเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับการประมูลความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศที่เคยมีการทำสถิติสูงสุด 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้คาดว่ามีโอกาสที่ราคาประมูลในครั้งนี้จะแตะสถิติโลกหากยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หรือวันที่ 4 ของการประมูล
ด้านพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.กล่าวว่า การแข่งขันยังยังเป็นไปอย่างดุเดือดมีการเคาะราคาต่อเนื่อง ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลถอดใจออกจากการประมูล และมองว่าเป็นการสู้ราคาเพื่อกันไม่ให้รายใหม่เข้ามาสู่ตลาด โดยยอมเสี่ยงที่จะมีกำไรน้อยลง
โดยจนถึงเวลา 05.30 น. การประมูลอยู่ที่รอบ 107 ราคาประมูลรวม 2 ล็อตอยู่ที่ 96,246 ล้านบาท โดยราคาล็อตที่ 1 อยู่ที่ 47,318 ล้านบาท และล็อตที่ 2 อยู่ที่ 48,928 ล้านบาท การแข่งขันยังเป็นไปอย่างดุเดือดมีการเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดถอดใจออกจากการประมูล
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 05.55 น.การประมูลรอบที่ 108 ช่วงคลื่นที่ 1 มีผู้เคาะประมูล 1 ราย – ราคา 47,640 ล้านบาท
ช่วงคลื่นที่ 2 มีผู้เคาะประมูล 1 ราย – ราคา 49,250 ล้านบาท ราคารวม 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 96,890 ล้านบาท
อนึ่ง ผู้เข้าร่วมประมูล 4 รายได้แก่
1) บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS
2) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
3) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC
และ 4) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE