คมนาคม เล็งเสนอครม.โครงการไฮสปีดไทย-จีน “โคราช-หนองคาย” ปีนี้
ครม.รับทราบความก้าวหน้าความร่วมมือไทย-จีน โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย
วันที่ 23 ส.ค. 2566 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย – รัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที และจะใช้งบประมาณลงทุน 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โดยมีรายละเอียด อาทิ
1.สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก (98.37%) สัญญา 3-4 ลาตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (58.89%) และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่นสัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า
2.งานจ้างออกแบบรายละเอียด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC) ซึ่งฝ่ายจีนได้ออกแบบเสร็จแล้ว
3.งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 63 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ขณะนี้ ผู้รับจ้างได้ออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป
4.การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่จะมาเดินรถในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบองค์กร
5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน
ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงเบาและที่จอดรถไฟที่นาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงหนักในพื้นที่เชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง รวมถึงย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา
ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะสามารถเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินการ อาทิ
1.การบริหารจัดการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ และมีการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป
2.การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ห่างจากสะพานแห่งเดิมประมาณ 30 เมตร ซึ่งไทยและ สปป. ลาว จะร่วมลงทุนในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์บนสะพานเดียวกัน 2.ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์โดยมีโครงสร้างแยกจากกัน และ 3.ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟเพียงอย่างเดียว โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้รองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ สปป. ลาว ทราบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566
3.การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน พัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ อยู่ระหว่างออกประกาศให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย และระยะยาว พัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้คณะกรรมการ รฟท. พิจารณา
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 มีสาระสำคัญ อาทิ
1.ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย โดยจีนจะให้ความร่วมมือในด้านการเงิน
2. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป. ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ระหว่างหนองคาย-เวี