“เดชอิศม์” ลั่นโหวต “เศรษฐา” ไม่ใช่แหกมติปชป.
“เดชอิศม์ ขาวทอง” นำทีมกลุ่ม 16 สส.ประชาธิปัตย์ แจงปมโหวต “เศรษฐา” ยืนยันไม่ขัดมติพรรค แต่เอกสิทธ์ของสส.
วันที่ 24 ส.ค. 2566 กลุ่ม 20 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลภาคใต้ และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับมติพรรคที่ให้งดออกเสียง
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า พรรคฯ เริ่มไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 2 รอบ มีเจตนาที่จะให้องค์ประชุมล่ม ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรคฯ ต่อองค์ประชุมที่มาจากทั่วประเทศ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมแต่ละครั้งต้องใช้เงินถึง 3-4 ล้านบาท
สำหรับเหตุผลในการโหวตสวนมติพรรค นายเดชอิศม์ กล่าวว่า การประชุมวิสามัญพรรค เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 66 ก่อนที่จะถึงวันโหวต ตนได้รับฟังเหตุผลในการโหวตแต่ละแบบ เช่น การโหวตไม่เห็นชอบ มีผู้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากความขัดแย้งและความไม่พอใจในอดีต แต่ได้มี สส. รุ่นใหม่บางคน ขอว่าอยากให้แยกการทำงานกับความโกรธแค้นในอดีต จึงทำให้มี สส. รุ่นใหญ่บางคน เดินออกไปจากที่ประชุม
ส่วนกลุ่มคนที่โหวตเห็นชอบ ให้เหตุผลว่า ควรเห็นแก่ความเดือดร้อนของประชาชน ไม่อยากให้เกิดสุญญากาศในการแก้ไขปัญหาประชาชน ขณะที่กลุ่มให้งดออกเสียง ให้เหตุผลว่า เพราะยังมีความกังวลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่น กรณีการโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งในจังหวะนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้า ปชป. ลุกขึ้นยืน พร้อมกับบอกว่า “อย่าโหวตกันเลย” ซึ่งตนมองว่าการโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. จึงไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว จะถือว่าเป็นมติหรือไม่ เพราะมีการปิดประชุมไปเสียก่อน
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ในวันที่ 22 ส.ค. ตนและกลุ่ม สส. ที่โหวตเห็นชอบ ได้เข้ามานั่งในห้องรับรอง เพื่อฟังการอภิปรายความเหมาะสมและไม่เหมาะสมของนายเศรษฐา ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการฟังแล้วในภาพรวม 100% ยอมรับได้ เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตนและกลุ่มเพื่อน สส. ได้นั่งฟังผลการโหวตของพรรค ปชป. 3 คน คือ นายจุรินทร์ โหวตงดออกเสียง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชวน หลีกภัย โหวตไม่เห็นชอบ ดังนั้น จึงมองว่า 3 คนนี้เป็นเสาหลักของพรรคฯ แต่ยังโหวตไม่เหมือนกัน จึงคุยกันว่านี่เป็นมติของพรรคหรือไม่ เพราะคำว่ามติ จะขอยกเว้นไม่ได้
“เราเป็นประชาธิปัตย์ ไม่เคยใส่เสื้อเหลือง ไม่เคยใส่เสื้อแดง ไม่มีความขัดแย้ง และเราไม่ควรที่จะมารับมรดกความขัดแย้งต่อจากรุ่นเก่าๆ จึงคุยกันว่าเราต้องให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ และควรสนับสนุนให้ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ แต่พวกเรายังเป็นฝ่ายค้าน เราเปิดโอกาสให้เขามาทำหน้าที่ นั่นคือเหตุผลในการโหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน” นายเดชอิศม์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า วันนี้ ปชป. เป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบเต็มตัว สส.ทุกคน มีศักดิ์ศรีความเป็น ปชป. ไม่กระเสือกกระสน กระเหี้ยนกระหือรือที่อยากจะไปเป็นรัฐบาล เพราะหลักการร่วมรัฐบาลของพรรคฯ คือ ต้องเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ
สำหรับกรณีที่พรรคฯ จะมีการเข้าชื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องการโหวตสวนมติพรรค รวมถึงเรื่องที่ไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะมีโทษหนักถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น นายเดชอิศม์ ระบุว่า ตนมีเพื่อนอยู่ทุกพรรค และแยกระหว่างหน้าที่กับความรัก ความผูกพัน รวมถึงความโกรธแค้นออกจากกัน
“ถ้าการพบทุกพรรคเป็นความผิด ก็น่าจะโดนประหารชีวิตไปตั้งนานแล้ว เพราะสนิทกับทุกพรรคการเมือง แต่พอเข้าสภาฯ หน้าที่เขาอีกหน้าที่หนึ่ง พอเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ก็อีกหน้าที่หนึ่ง” นายเดชอิศม์ กล่าว
ส่วนกระแสที่ถูกมองว่าการโหวตสวนมติพรรค เพื่อที่จะตั้งใจให้ถูกขับออก และจะได้ย้ายไปอยู่กับพรรคใหม่นั้น นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าใครจะขับใครกันแน่ เสียงส่วนใหญ่อยู่นี่เกือบทั้งหมด และก็ไม่คิดจะขับใครออกจากพรรค พร้อมที่จะพูดคุยเจรจา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาเจรจา ไม่ว่าจะเรื่องกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หรือทิศทางใดๆ
เมื่อถามว่าตอนนี้จะทำงานในพรรคฯ ให้เป็นเอกภาพได้อย่างไร เพราะดูแล้วภายในพรรคขัดแย้งกันเอง นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นด้วยการประชุมใหญ่วิสามัญ และเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้ได้
พร้อมฝากบอกผ่านสื่อมวลชน ถึงผู้ที่ทำให้องค์ประชุมล่ม จะทำอย่างไรให้องค์ประชุมครบ ส่วนเรื่องการแข่งขัน มองว่าเป็นปกติของพรรคฯ แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ยินดีให้ความร่วมมือ ก่อนจะย้ำว่าความสัมพันธ์ภายในพรรคไม่ถึงกับแตก อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ทุกคนควรลดทิฐิ และมารับฟังกัน เพราะทุกคนมาจากประชาชน กว่าจะฝ่าฟันมาได้เป็นเรื่องยาก