“สภาวิชาชีพบัญชี” จ่อสอบจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี กรณีหุ้น “STARK”
นายกสภาวิชาชีพบัญชี เตรียมถอดบทเรียนกรณี “STARK” ยันมาตรฐานมีการรับรองในระดับโลก จ่อประสานก.ล.ต. สอบเรื่องจรรยาบรรณ
วันที่ 1 ก.ย. 2566 นายวินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า จากบทเรียนของกรณีหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทางสภาวิชาชีพฯหากในกรณีที่มีการสอบสวนจนมีข้อสรุปแล้ว ก็จะต้องมีการถอดบทเรียนมากขึ้นกว่านี้ เพราะปัจจุบันมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีที่ใช้ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการรับรองในระดับสูง และเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไปในวิชาชีพทั่วโลก
นายวินิจ กล่าวว่า โดยขณะนี้ทางสภาวิชาชีพก็ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้นภายใต้กฎหมายที่อนุญาตให้สามารถทำได้ ซึ่งในแง่ของการทำงานของสภาวิชาชีพเน้นคุณภาพ และมาตรฐานในการตรวจสอบบัญชี รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล เพราะมีการพัฒนาอยู่ตลอด โดยจากการที่มีผู้ร้องเรียน ผู้สอบบัญชีของบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK)นั้น ซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อสอบสวนผู้สอบบัญชีของSTARKแล้ว แต่ด้วยกรณีนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 5-6 หน่วยงาน ทั้งผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย หน่วยงานกำกับ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งต้องใช้เวลาในการสืบสวน สอบสวน โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างอยู่ หากแล้วเสร็จจะดำเนินการส่งร่างให้กับทาง ก.ล.ต.พิจารณาและตรวจสอบต่อไป
นายวินิจ กล่าวว่า ทางสภาวิชาชีพเองก็พยายามเน้นย้ำกระบวนการในการทำงานให้คำนึงถึงผลกระทบให้มาก ซึ่งขณะนี้ก็มีการทำงานใกล้ชิดมากขึ้นกับ สำนักงาน ก.ล.ต. กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานด้านการตรวจสอบบัญชีเข้มข้นขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานทางจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งยอมรับคดีดังกล่าวว่ามีผลกระทบต่อในเรื่องค่าจ้างผู้สอบบัญชีที่อาจจะสูงขึ้น แต่ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินการสืบสวนและลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น ดำเนินการ โดยคณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระจากคณะกรรมการของสภาวิชาชีพบัญชี มีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบเป็นอิสระ หากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยสามารถตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียน และพิจารณาโทษต่อผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยอิสระ
ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องสังกัด สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้น ผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตรวจสอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้ จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชี และกรณี STARK คณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของผู้สอบบัญชีแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ก.ล.ต. ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีจะได้เร่งรัดสอบสวนเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี หากพบว่าผู้สอบบัญชีมีการทำผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทางคณะกรรมการจรรยาบรรณก็จะมีการดำเนินการลงโทษตามเกณฑ์ ซึ่งบทลงโทษนั้น มีตั้งแต่การพักใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนกรอบเวลาในการดำเนินการตรวจสอบจะขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งทางสภาวิชาชีพบัญชีฯไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงได้.