ผู้ถือหุ้น BAFS เฮ! ลุ้นปันผลพิเศษหลังมีรายได้ขายหุ้น FPT ดึง BA-PTG เป็นพันธมิตร
BAFS ลุ้นปันผลพิเศษหลังมีรายได้ขายหุ้น FPT ดึง BA-PTG เป็นพันธมิตร คาดปริมาณการเติมน้ำในปีนี้-ปีหน้าจะเติบโต ตามภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวดี-ราคาน้ำมันที่ลดลง
ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ามีโอกาสที่จ่ายปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น หลังมีรายได้จากการขายหุ้นบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ให้กับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ราว 690 ล้านบาท
โดย BA จะเข้ามาถือหุ้นใน FPT สัดส่วน 7% และ 9.5% ตามลำดับ ส่วน BAFS จะถือหุ้นในสัดส่วน 75% ขณะที่ FPT เตรียมที่จะเพิ่มทุนอีก 3,400 ล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ และมีโอกาสที่จะขยายต่อไปยังเมียนมาร์ในอนาคต
สำหรับวันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือร่วมกับ FPT ซึ่งจะต่อขยายจากระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเดิมที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยแบ่งการลงทุนเป็น ระยะที่ 1 อ.บางปะอิน-จ.กำแพงเพชร ระยะทาง 350 กิโลเมตร (กม.) และระยะที่ 2 จ.กำแพงเพชร-จ.ลำปาง ระยะทาง 220 กม. โดยมีคลังน้ำมันปลายทางที่จ.พิจิตร และจ.ลำปาง
ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจะประสานขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการวางท่อขนส่งน้ำมัน ออกใบอนุญาตให้ผู้ลงทุนและให้ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ส่วนผู้ลงทุนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.59 และก่อสร้างระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อและคลังน้ำมันให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.61
ขณะนี้ทั้ง BAFS และ FPT อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มสถาบันการเงินที่จะร่วมปล่อยกู้ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB),ธนาคารกรุงเทพ(BBL),ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ,ธนาคารทหารไทย(TMB) และธนาคารธนชาต คาดว่าจะสรุปได้ในอีก 2 เดือน โดยในส่วนของ BAFS จะเป็นการกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 2,250 ล้านบาท เพื่อใช้เพิ่มทุนใน FPT ขณะที่ FPT จะกู้เงินราว 4,600 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการดังกล่าว
สำหรับโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ จะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ต้นปี 62 ซึ่งโครงการจะให้อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 10% แม้จะไม่มากนัก แต่ก็มองโอกาสการจะยื่นขอคาร์บอนเครดิตในอนาคต เพราะโครงการนี้จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์ได้
นอกจากนี้ FPT ยังมีแผนจะขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังเมียวดีและท่าขี้เหล็กในเมียมมาร์ เพื่อรองรับการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์จากไทยไปยังเมียนมาร์ ซึ่งจะสร้างคลังน้ำมันขนาดเล็กในพื้นที่ทั้งสองแห่ง โดยจะต่อท่อจากกำแพงเพชรไป อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปยังเมียวดี และต่อท่อจาก จ.ลำปาง ไป จ.เชียงราย ก่อนจะเข้าไปบริเวณท่าขี้เหล็ก ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ขณะที่ปัจจุบันได้ติดต่อเจรจากับกลุ่มต่างๆของเมียนมาร์บ้างแล้ว โดยหากดำเนินโครงการได้ก็จะแล้วเสร็จในปี 64
ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันของ BAFS ในปีนี้และปีหน้าจะเติบโต ตามภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวดี และราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีสายการบินเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณการเติมน้ำมันของบริษัท ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ก็ยังช่วยให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการที่มีรายได้ในรูปสกุลดอลลาร์ราว 20% ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทมีสูงมาก เพื่อใช้รองรับการลงทุนขยายธุรกิจ
โดยบริษัทมองหาโอกาสในพื้นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่ก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน หลังจากแพ้การประมูลเพื่อให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานที่สนามบินในเมียนมาร์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหากทางเมียนมาร์จะเปิดประมูลสำหรับสนามบินแห่งใหม่บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมแข่งขันเช่นกัน
ด้านนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่าโครงการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือครั้งนี้ จะทำให้สามารถลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันในภาคเหนือลดลงได้ 30-40 สตางค์/ลิตร เนื่องจากค่าขนส่งน้ำมันทางท่อนับว่ามีราคาถูกกว่าค่าขนส่งน้ำมันโดยรถยนต์ราวครึ่งหนึ่ง
สำหรับการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ขณะนี้มีผู้ที่ให้ความสนใจติดต่อมา 2 ราย คือ เอสซี กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งน้ำมันทางรถยนต์รายใหญ่ และกลุ่มบมจ.ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น(TRC) แต่ล่าสุดทาง TRC ไม่ได้ติดต่อเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าอีกราว 2-3 เดือนน่าจะมีการลงนาม MOU กับผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้
โดยโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะต่อท่อขยายจากระบบขนส่งน้ำมันทางท่อเดิมของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPPLINE) ที่จ.สระบุรี ไปยังจ.นครราชสีมา และจ.ขอนแก่น ระยะทาง 340 กม. ซึ่งจะมีมูลค่าการลงทุนราว 1.3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้งโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีวงเงินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท