มหาดไทย คลอด 8 มาตรการคุมเข้ม “อาวุธปืน-บีบีกัน-แบลงค์กัน” ล้อมคอกเหตุกราดยิง
กระทรวงมหาดไทย ออก 8 มาตรการระยะสั้น และ 1 มาตรการระยะยาวคุมเข้ม “อาวุธปืน-บีบีกัน-แบลงค์กัน” หลังเกิดเหตุเด็ก 14 ปีใช้สิ่งเทียมอาวุธปืนกราดยิงมีผู้เสียชีวิต 2 ราย
เหตุอุกอาจกลางห้างดัง “ย่านปทุม” ที่เด็กชายอายุเพียง 14 ปี ควง “แบลงค์กัน” ที่มีการดัดแปลงให้สามารถใช้กระสุนจริงได้ จนกลายเป็นอาวุธที่ใช้ในการก่อเหตุสังหารผู้ที่มาใช้บริการ และพนักงานร้านค้าภายในห้างเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย ยังไม่นับรวมของกลางที่ตำรวจสามารถตรวจยึดได้หลังเกิดเหตุที่พบกระสุนปืนนับ 100 นัด จนเกิดคำถามว่าเหตุใดเด็กอายุเพียง 14 ปี จึงสามารถเข้าถึงแหล่งที่ขายของผิดกฎหมายเหล่านี้ได้อย่างไร
คำถามที่ว่านี้ จึงเป็นที่มาทำให้กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอาวุธ และเครื่องกระสุนปืน ต้องกลับมาทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่บังคับใช้อยู่ ยังมีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่การซื้อขายอาวุธ และสิ่งเทียมอาวุธต่างๆ เกิดขึ้นได้โดยง่าย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการหาริร่วมกับหน่วยงานตำรวจ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจ และสังคม กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ได้เห็นชอบมาตรการระยะสั้น ดังนี้
- ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ เช่น นายอำเภอในต่างจังหวัด และในกทม.งดออกใบอนุญาตให้สั่งนำเข้า หรือค้าซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด ไม่เฉพาะปืน และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่ม
- ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ โดยให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนเอง ที่ครอบครองอยู่ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนา ที่มีทะเบียนบ้านอยู่
- ให้กรมศุลกรกรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะแบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนให้เข้มงวด
- ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศ ตรวจสอบบุคคลที่มาใช้บริหาร โดยห้ามผู้มีอายุอายุไม่เกิน 20 ปีเข้าสนามยิงปืน ยกเว้นได้รับอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย อาทิ นักกีฬายิงปืนทีมชาติ ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ในสนามยิงปืน ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และต้องตรงตัวกับผู้ที่นำมาใช้บริการ ไม่สามารถไปยืมของใครมาใช้ได้ ห้ามนำกระสุนปืนออกนอกเขตสนามยิงปืนเป็นอันขาด
ส่วนสนามยิงปืนในกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการกวดขันตรวจสอบให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ การพกพาอาวุธปืนของบุคคลที่ไปจะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬา หรือเป็นสโมสรใดก็ตาม ต้องฝากอาวุธปืนของตัวเองไว้ที่สนามยิงปืน โดยสนามต้องมีวิธีการรักษา ควบคุม เก็บรักษาให้ผู้มาใช้อาวุธดังกล่าว ขอย้ำว่า นำออกนอกสนามไม่ได้ จนกว่าจะพ้นจากการเป็นสมาชิกที่มาใช้งาน ก็จะต้องขออนุญาตเป็นรายครั้งในการพกพาอาวุธปืนไปที่ใด
- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว
- กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้กับประชาชนทั่วไป แต่สำหรับเจ้าพนักงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการป้องกัน ปราบปรามจะมีได้แค่คนละ 1 กระบอก แล้วห้ามโอนต่อ หากผู้ครอบครองเสียชีวิตก็ให้ตกเป็นของทายาทตามระเบียบ
7.ให้นายทะเบียนงดออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และไม่อนุญาตให้มีการเปิดร้านค้าอาวุธปืนรายใหม่ เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน และลดการเข้าถึงการครอบครองอาวุธปืนของประชาชนทั่วไปให้มากที่สุด
- ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดีอีเอส ปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์การซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยให้รายงานผลการปฏิบัติงานให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบทุกๆ 15 วัน
นายอนุทิน ยังระบุ ข้อกำหนดที่ออกมาใหม่นี้ คือ ห้ามพกพาและห้ามซื้อใหม่ ใครมีก็เก็บเอาไว้ที่บ้าน และเก็บรักษาไว้ให้ดี โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเอาไปใช้ เจ้าของปืนมีความผิดด้วย ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ที่ทำผิดกฎหมาย จะใช้อาวุธปืนที่ผิดกฎหมายในการก่อเหตุ ที่มีการลักลอบขายในโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมาตรการที่ออกมาเป็นการใช้กฎหมายที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อบังคับใช้อย่างเต็มที่ ส่วนอื่นที่นอกเหนือกระทรวงมหาดไทย หากมีเรื่องใดที่จำเป็นแต่ละหน่วยงานจะที่จะมีข้อเสนอออกมาหลังจากนี้
ส่วนการขึ้นทะเบียนปืนบีบีกัน และสิ่งเทียมอาวุธปืนกับกรมการปกครองทุกกระบอก เมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว อย่างน้อยก็จะทำให้ทราบว่าเป็นของใคร ถ้าเปลี่ยนมือแล้วไม่มาแจ้ง หากมีอะไรก็ต้องรับผิดชอบ และถ้าไม่มาขึ้นทะเบียน เมื่อมีการตรวจค้น ตรวจจับ หรือมีใครนำไปใช้ก็จะถูกจับกุมและมีโทษ
ขณะที่กรอบเวลาเปิดให้แจ้งครอบครองสิ่งเทียมอาวุธปืน หลังจากนี้อธิบดีกรมการปกครอง จะออกเป็นคำสั่งเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ซึ่งอาจจะมีการกำหนดกรอบไว้ เช่น 30 วัน 60 วัน หรือ 90 วัน
สำหรับมาตรการระยะยาวคือ การแก้ไข พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยมีสาระสำคัญได้แก่ (1) ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
(2) ความหมาย บทนิยาม ของคำว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย
(3) กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
(4) ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย
(5) ให้ใบอนุญาตมีอาวุธปืนภายในวงเล็บ (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5 หรือ 10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเช่นเดียวกันกับใบขับขี่รถยนต์