HANA ร่วง 8% หลังเพิ่มทุน PP ขายสถาบัน 80 ล้านหุ้น โบรกชี้กระทบราคาระยะสั้น
HANA รูดกว่า 8% หลังประกาศระดมทุนครั้งใหญ่ผ่านการเพิ่มทุน PP จำนวน 80.5 ล้านหุ้นให้สถาบันที่ 57 บาท/หุ้น รองรับแผนขยายธุรกิจ โบรกชี้กระทบราคาหุ้นระยะสั่น ส่วนระยะกลางคาดการขยายธุรกิจจะเพิ่มรายได้แซงหน้าผลกระทบไดรูชั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค.66) ราคาหุ้นบริษัท นาไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ณ เวลา 10:09 น. อยู่ที่ระดับ 57.00 บาท ลบ 5.00 บาท หรือ 8.06% สูงสุดที่ระดับ 59.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 56.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.23 พันล้านบาท
โดยราคาหุ้น HANA ปรับตัวลดลงวันนี้ หลังมีรายงานข่าวว่าบริษัทเตรียมเพิ่มทุนจำนวน 80,487,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ให้แก่นักลงทุนสถาบันจำนวนทั้งสิ้น 25 รายในราคาเสนอขายหุ้นละ 57 บาท โดยกำหนดวันจองซื้อและชำระเงินค่าหุ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2566
สำหรับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินเพิ่มทุน บริษัทฯ จะนำไปใช้ลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับการผลิต ผลิตภัณฑ์ซิลิคอนคาร์ไบด์ ของบริษัท พาวเวอร์มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด ประมาณ 2,900 ล้านบาท ภายในปี 2567 และการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรในการผลิตอื่นๆ เพื่อขยายธุรกิจหลักของบริษัท จำนวน 1,600 ล้านบาท ภายในปี 2568 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ราคาเสนอขายหุ้นละ 57 บาท เป็นราคาไม่ต่ำกว่าราคาร้อยละ 90 ของราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักต่อหุ้นของหุ้นสามัญของบริษัท โดยราคาเสนอขายคำนวณจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญของบริษัทย้อนหลังเป็นระยะเวลา 7 วันทำการติดต่อกันในระหว่างวันที่ 4-12 ตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับหุ้นละ 61.97 บาท
ด้าน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (17 ตุลาคม 2566) ว่า รายงานข่าวใน Bloomberg ว่า HANA จะขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 65 ล้านหุ้น ราคาระหว่าง 57-58.90 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราลด 5.0-8.1% จากราคาปิด 62 บาท และยังมี option จะขายเพิ่มอีก 15.5 ล้านหุ้น เงินได้ที่ได้จากการเพิ่มทุนจะนำไปสนับสนุนการลงทุนธุรกิจเซมิฯในเกาหลี ภายใต้ชื่อ Power Master Semiconductor (PMS)
ทั้งนี้ ไม่แปลกใจกับข่าวการเพิ่มทุนครั้งนี้ เพราะ HANA เคยแจ้งในประชุมนักวิเคราะห์ว่ายังต้องลงทุนในบริษัท PMS อีก 100-200 ล้านเหรียญ และน่าจะมาจากการเพิ่มทุน โดยบริษัท PMS ทำธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ hi end คือ silicon carbide ใช้มากในอุตฯรถยนต์อีวี ซึ่งมีอนาคตค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม PMS ยังอยู่ในช่วงการลงทุน ยังไม่มีกำไร
โดยคาดการณ์ว่ามีกำไรในปลายปี 2567 ประเมินว่าการเพิ่มทุน 65 ล้านหุ้นคิดเป็นไดรูชั่น 7.5% และหากเพิ่มอีก 15.5 ล้านหุ้นตาม option จะเป็นไดรูชั่นรวม 9.0% ทำให้ราคาเป้าหมายเดิม 61 บาท อาจลดไปที่ 56.7 บาท กรณีเพิ่ม 65 ล้านหุ้น และ 55.7 บาท กรณีเพิ่มอีก 15.5 ล้านหุ้น นอกจากนี้ราคาขายที่ 57-58.9 บาท จะทำให้ราคาหุ้น HANA ลงมาตามราคาขาย แนะนำรอซื้อเมื่ออ่อนตัว เพราะการเพิ่มทุนจะลดปัญหาการลงทุนใน PMS
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า HANA ขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง 65 ล้านหุ้น ที่ 57.00-58.90 บาท ซึ่งมีส่วนลด 5-8% จากราคาปิดล่าสุดที่ 62.00 บาท ทั้งนี้บริษัทมี option ในการขายหุ้นเพิ่มอีก 15 ล้านหุ้นอีกด้วย วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน คือเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายกลยุทธ์ซิลิคอนคาร์ไบด์รวมถึงธุรกิจ PMS
ขณะที่เดียวกันฝ่ายวิเคราะห์มองว่าบริษัทฯ จะได้รับเงินสดในช่วง 3.7-4.7 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจโดยยังคงรักษาอัตราส่วน D/E ไว้ต่ำ (ตั้งข้อสังเกตว่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 D/E สุทธิอยู่ที่ 0.3 เท่า มีเงินสดคงเหลือ 2.8 พันล้านบาท)
โดยในระยะสั้น อาจเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อราคาหุ้น เนื่องจากจะมี EPS dilution 8-10% ซึ่งหากอิงเป้าหมาย PE เดิม จะทำให้ราคาเป้าหมายของเราลดลง 8-10% จากปัจจุบันที่ราคาเป้าหมายปี 2567 อยู่ที่ 56.0 บาท แต่ในระยะกลางถึงยาว การขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วอาจช่วยเพิ่มยอดขายและรายได้ให้แซงหน้าผลกระทบจาก dilution
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า HANA มีการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) โดยการออกหุ้นสามัญ 80,487,886 หุ้น ประมาณ 10% ของทุนจะทะเบียนชำระแล้วของบริษัท พาร์หุ้นละ 1 บาท ในราคา 57 บาท เพื่อใช้ลงทุนขยายกิจการ และเป็นทุนหมุนเวียนของบริษัท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อุรกิจในอนาคตของบริษัท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ เนื่องจากเป็นอุตฯที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเร็ว จึงต้องมีการลงทุนอยู่ตลอด โดยโครงการหลักที่อยู่ระหว่างพัฒนาและลงทุน คือ ซิลิกอนคาร์ไบด์ ซึ่งต้องลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่ม จากส่วนงาน PMS ที่มีปัญหาคอขวดในการผลิต คาดว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะสร้างความคุ้มค่าให้กับ HANA ได้ เพราะความต้องการ ซิลิกอนคาร์ไบด์ ยังมีอยู่มาก
นอกจากนี้ ปัจจุบันส่วนงาน PMS ยังมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยอยู่ ประมาณ 2% ของรายได้รวม แต่เป็นส่วนงานที่เติบโตสูงที่สุดในช่วงไตรมาส 2/66 เพิ่มขึ้น 316% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน และจะมีการเพิ่มเครื่องจักรในช่วงไตรมาส 4/66 เพื่อรองรับการผลิต EV ซึ่งกำลังจะได้รับในอนุญาตจากคู่ค้า แม้มีการเติบโตที่สูงแต่ทางฝ่ายฯมองว่ารายได้จากส่วนงานนี้ยังเล็กอยู่หากเทียบกับรายได้รวม ซึ่งการเพิ่มทุนอาจทำให้อัตราส่วนกำไรต่อหุ้นลดลงในช่วงปีแรกๆ
ทั้งนี้ปัจจุบันทางฝ่ายฯ ทำราคาพื้นฐานปี 66 ไว้ที่ 65.00 บาท และมีแนวโน้มที่จะปรับราคาพื้นฐานลงในปี 67 เนื่องจากจำนวนหุ้นจะเพิ่มขึ้นอีก 10% แต่ปัจจุบันทางฝ่ายฯคาดการณ์กำไรปี 67 เติบโต 6.5% ราคาหุ้นในปัจจุบันปรับตัวขึ้นอยู่ระดับสูง Up side เหลือน้อย ปรับคำแนะนำลงเป็น “ถือ”