ประชุมครม.วันนี้ จับตาหาข้อสรุปหลักเกณฑ์โครงการเงินดิจิทัล
“เศรษฐา” นั่งประธานประชุมครม. ก.แรงงานเตรียมเสนอของบ เยียวยาให้แรงงานที่กลับจากอิสราเอลจาก 1.5 หมื่น ขณะที่ต้องจับตา “จุลพันธ์” เตรียมรายงานโครงการเงินดิจิทัล ก่อนเตรียมแถลง 10 พ.ย.นี้
วันที่ 7 พ.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระที่เข้าสู่การประชุมที่น่าสนใจ กระทรวงแรงงานเตรียมที่จะเสนอของบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อใช้เป็นมาตรการเยียวยาแรงงานไทยที่เดินทางกลับเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบเพิ่มเติมอีกรายละ 50,000 บาท จากเดิม 15,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการพักหนี้ พักต้น พักดอก ในการชำระหนี้ขณะกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายไปทำงานในอิสราเอล เป็นวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่ ครม.อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และ สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีรายละเอียดคือ
1.มาตรการรักษามีเป้าหมายเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน (สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน+เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน) ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 ในราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉางด้วย
2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 30 ก.ย. 2567 โดยจะเริ่มจ่ายให้เกษตรกรหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตรควรดูแลครอบคลุมถึงเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ภาคการเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยจะเป็นการพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จำนวน 707,213 ราย มูลหนี้รวม 88,131.33 ล้านบาท และจะขอความเห็นชอบรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรแทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2569
ขณะเดียวกันก็ต้องจับตา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีการรายงานผลสรุปข้อหารือให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบในวันนี้ ทั้งการขยายรัศมีการใช้จ่ายจาก 4 กิโลเมตร เป็นระดับอำเภอเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ส่วนรายละเอียดต่างๆต้องรอคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการวันที่ 10 พ.ย.นี้