“นพพร” โต้ “ณพ ณรงค์เดช” บิดเบือนปมโกงหุ้น “วินด์”
“นพพร” อดีต CEO บ.วินด์ฯ (WEH) ออกโรงโต้ “ณพ ณรงค์เดช” และ “คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา” บิดเบือนซื้อปมโกงหุ้น “วินด์” ยังค้างจ่ายค่าหุ้น 900 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมย้ำจุดเริ่มต้นมาจากตั้ง ““ณพ ณรงค์เดช” เป็นนอมินีถือหุ้นแทน
จากกรณีที่นายณพ ณรงค์เดช คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา และนายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ ตั้งโต๊ะข่าวร่วมกันแถลงข่าวในประเด็น “พลิกปมคดีครอบครัว ณพ ณรงค์เดช เปิดใจครั้งแรก หลังทนเงียบตลอดหลายปี พร้อมเปิดข้อมูลสำคัญหลังศาลตัดสินชนะคดีรวด” และ “คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เปิดข้อเท็จจริง ศาลยกฟ้องทุกคดี! เป็นผู้บริสุทธิ์คดีปลอมลายเซ็นและการปลอมเอกสาร ย้ำเป็นผู้ลงทุนหุ้นวินด์ที่แท้จริง” นั้น
ล่าสุด นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ในฐานะคู่กรณีของนายณพ ได้ออกแถลงตอบโต้ความยาว 5 หน้า ว่า สิ่งที่นายณพ คุณหญิงกอแก้ว และนายวีระวงศ์ ได้ให้ข้อมูลกับสาธารณะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด กับการซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท
โดยข้อเท็จจริงจากประเด็นพิพาทที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บริษัทของ นายณพ ณรงค์ ยังผิดนัดชาระหนี้พร้อมดอกเบี้ยค่าหุ้น WEH ให้แก่บริษัทฮ่องกง 3 แห่ง ที่ตนเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่บริษัท ซิมโฟนี พาร์ทเนอร์ส ลิมิเต็ด , บริษัท เน็กซ์ โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส ลิมิเต็ด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด
โดยคดีความระหว่างตนกับนายณพและพวก มีประเด็นหลัก คือ การที่บริษัทของนายณพ มีข้อผูกพันตามสัญญาซื้อขายหุ้น WEH จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ผิดสัญญา ซึ่งที่ผ่านมา นายณพ ชำระเงินค่าหุ้นทั้งหมดเพียงแค่ 175 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ปี 2558 จำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้เงินกู้ยืมจากบุคคลภายนอก และ ครั้งที่ 2 ปี 2562 จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้มาจากการขายหุ้นบริษัท WEH บางส่วนให้นายประเดช กิตติอิสรานนท์
ทั้งนี้ การชำระครั้งที่ 2 เป็นการชำระหลังจากการผิดนัดชำระค่าหุ้น เป็นเวลาเกือบ 4 ปี และไม่เคยชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยคงค้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเลย จึงเป็นเหตุให้เป็นคดีพิพาทกันที่อนุญาโตตุลาการ รวมทั้งหมด 3 คดี
โดยคดีที่ 1 คือ เรื่องการค้างชำระหนี้คำหุ้นงวดแรกตามสัญญาซื้อขาย หลังจากได้รับโอนหุ้นแล้วเสร็จในปี 2558 โดยได้เสนอข้อพิพาทในเดือนมกราคม 2559 อนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินชี้ขาดแล้วในวันที่ 22 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ให้บริษัทของนายณพ ชำระเงิน จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งนายณพไม่ได้ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ก็ยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่สุดท้ายในปี 2562 ก็ต้องนำเงิน จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ มาชำระให้แก่เจ้าหนี้ เพราะในเวลานั้น บริษัทในเครือ WEH ทำเรื่องขอสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นจำนวนประมาณ 30,000 ล้านบาท และธนาคารตั้งเงื่อนไขการให้สินเชื่อโดยกำหนด ให้ชำระเงินค่าหุ้นคงค้างจำนวนดังกล่าวให้แล้วเสร็จ
แต่เนื่องจากการชำระค่าหุ้นส่วนนี้ล่าช้ากว่ากำหนดไปเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี มูลค่าหนี้จากเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา ณ วันที่ชำระ จึงเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านเหรียญ ดังนั้นเมื่อหักเงินส่วนที่ได้ชำระมาแล้ว ยังคงเหลือเงินค้างชำระอยู่จำนวน 57 ล้านเหรียญ และหากรวมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันจะเป็นเงินประมาณ 80 ล้านเหรียญ ซึ่งคดีนี้ ปัจจุบันถึงที่สุดแล้ว และยังคงไม่มีการชำระเงินคงค้างส่วนนี้แต่อย่างใด
ต่อมา คดีที่ 2 คือการเรียกให้ชำระค่าหุ้นส่วนที่เหลือ จำนวน 525 ล้านเหรียญสหรัฐ คดีนี้อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในเดือนมิถุนายน 2562 ให้บริษัทของนายณพ ชำระเงิน จำนวน 525 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งต่อมานายณพไป อุทธรณ์ที่ศาลสูงสิงคโปให้เพิกถอนคำชี้ขาด จนในที่สุดศาลสูงสิงคโปร์ เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวบางส่วน
โดยศาลสูงสิงคโปร์ ไม่เคยพิพากษาว่า บริษัทของนายณพ ไม่ได้เป็นหนี้ เพียงตัดสินว่ามี ข้อผิดพลาดทางเทคนิค จากการที่คณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข เรื่องเขตอำนาจของตน จึงเพิกถอนคำชี้ขาด แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์ในการเสนอข้อพิพาทใหม่
และ คดีที่ 3 บริษัทฮ่องกงทั้ง 3 แห่ง จึงเสนอข้อพิพาทแก่อนุญาโตตุลาการ เพื่อขอให้ชี้ขาดให้บริษัทของนายณพ ชำระเงินในส่วนของค่าหุ้นส่วนที่เหลือ 525 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ในคดีนี้ นายณพ โต้แย้ง โดยอ้างเหตุต่าง ๆ ในการไม่จ่ายเงินค่าหุ้น แต่อนุญาโตตุลาการ ไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของนายณพ และได้มีคำตัดสินชี้ขาดในเดือนมีนาคม 2566 ให้บริษัทของนายณพ ชำระเงิน 525 ล้านเหรียญสหรัฐพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหากนับถึงวันนี้ มูลค่าหนี้ดังกล่าวรวมเป็นเงิน จำนวนกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่นายณพไม่ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด คดีจึงถึงที่สุดแล้ว
ดังนั้นในตอนนี้ จึงเป็นที่ยุติแล้วว่า บริษัทของนายณพ เป็นหนี้ค้างชำระเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ย ให้แก่บริษัทฮ่องกงทั้ง 3 แห่ง จากผลของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการทั้งสองคดี รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นตัวเลขที่ศาลอังกฤษ นำไปใช้เป็นฐาน ในการกำหนดค่าเสียหาย (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่ https://www.baili.org/ew/cases/EWHC/Comm/2023/1988.pdf) นายณพ จงใจไม่พูดถึงเรื่องที่แพ้คดีอนุญาโตตุลาการ คดีที่สาม ในการแถลงข่าวของนายณพ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทั้งที่คดีนี้คือ ประเด็นหลักของการพิพาทและคดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่สอง เรื่องโกงเจ้าหนี้ โดยที่ศาลอังกฤษ ใช้เวลาดำเนินการและวินิจฉัยคดีนี้ อย่างละเอียดถี่ถ้วนนานกว่า 4 ปี มีทนายความที่ทำคดีนี้ของทั้งโจทก์และจำเลยรวมกันประมาถ 50-60 คน และมีการตรวจทานเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอีเมล์ ข้อความในโทรศัพท์มือถือ นับแสนแผ่น โดยนับเป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดของกาะอังกฤษในรอบปี หรืออาจจะหลายปีที่ผ่านมา เป็นคดีสำคัญที่ศาลต้องใช้การพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ศาลสูงของอังกฤษย่อมมอบหมายคดีนี้ให้ผู้พิพากษามือหนึ่ง
ถึงแม้การพิจารณาคดีจะใช้กฎหมายไทยเป็นหลัก และศาลอังกฤษไม่ได้มีความเชี่ยวชาญกฎหมายไทย แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่ศาลอังกฤษพิจารณาคดี โดยใช้กฎหมายของต่างประเทศซึ่งศาลจะพิจารณาข้อกฎหมายโดยใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย ในกรณีนี้ ได้แก่ รศ. ดร. มุนินทร์ พงศาปาล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศจ. พิเศษ สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล อดีตประธานกรรมการอำนวยการ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ ซึ่งฝ่ายนายณพและพวก ก็ได้เข้าสู้คดีที่อังกฤษอย่างเต็มที่ โดยนายณพและจำเลยเกือบทั้งหมด ได้เดินทางมาเบิกความที่ศาลอังกฤษด้วยตนเอง และตนเองถูกถามค้านจากทนายจำเลยต่าง ๆ นานเกือบ 7 วัน จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงสามารถมั่นใจได้ว่า คำตัดสินของศาลอังกฤษในคดีนี้ มีกระบวนการพิจารณาคดีที่ได้รับความน่าเชื่อถือสูงในระดับสากล
ส่วนในกรณีการยกฟ้องนายณพ ณรงค์เดชและพวก จากศาลแขวงพระนครใต้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ขาดเจตนาพิเศษ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เนื่องจาก ศาลเห็นว่า มีเหตุจำเป็นในการขายหุ้นบริษัท WEHออกไป ไม่เช่นนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์จะไม่ปล่อยเงินกู้ โดยโจกท์เองก็ไม่ได้เห็นว่า การขายหุ้นออกไปนั้น ต้องเป็นการโกงเจ้าหนี้เสมอไป หากนายณพ ขายหุ้นดังกล่าวอย่างโปร่งใส ให้กับบุคคลภายนอก ที่เสนอราคาสูงสุด หรือเท่ากับราคาทุน 700 ล้านเหรียญ และนำเงินที่ได้รับ มาชำระเจ้าหนี้ ก็อาจถือว่าสุจริต แต่นายณพ มิได้ทำเช่นนั้น
ทั้งนี้ ศาลอังกฤษได้พิจารณาตามพยานเอกสารดังกล่าว เกี่ยวกับการโอนหุ้นบริษัทวินด์ฯ โดยศาลเห็นว่า มีการขายหุ้นบริษัทWEH มูลค่ากว่าหลายหมื่นล้านบาท จากบริษัทเคพีเอ็น เอนเนอฯ ไปยังนายเกษม ณรงค์เดช ในราคาเพียง 2,400 ล้านบาท และไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง แต่เป็นการแบ่งจ่ายหลายๆครั้ง ครั้งละ 1-300 ล้านบาท และทุกครั้ง เงินดังกล่าวอยู่ในบัญชีไม่ทันข้ามวัน จะถูกสั่งจ่ายกลับไปยังกลุ่มของนายณพ
โดยที่เงินไม่ได้มาจากนายเกษม แต่เป็นบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีเพียงเงินจำนวน 300 ล้านบาท ที่มาจากครอบครัวคุณหญิงกอแก้ว แต่พอเข้าบัญชีแล้ว ก็ถูกสั่งจ่ายกลับไปยังกลุ่มของนายณพ อีกทั้งเอกสารประกอบการซื้อขายต่าง ๆ อาทิ รายงานการประชุมของบริษัทเคพีเอ็น เอนเนอยีฯ ที่อนุมัติการขายหุ้นครั้งนี้ และรายงานการประเมินราคาหุ้นที่จัดทำขึ้น เพื่อประกอบกรโอนหุ้นดังกล่าว ก็ถูกทำขึ้นย้อนหลัง ศาลจึงพิพากษาว่า กรกระดังกล่าว เป็นการฉ้อฉลและถือเป็นการโกงเจ้าหนี้ คำพิพากษาศาล ยังชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของ นายณพ และผู้ที่แถลงข่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน ร่วมกับนายณพ ในย่อหน้าที่ 905 ของคำพิพากษาว่า
“การแสวงหาความจริงในคดีนี้ จำเป็นที่จะต้องพึ่งพยานเอกสาร เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่า พยานบุคคลฝั่งจำเลยหลายคนโกหกอย่างต่อเนื่องต่อศาล ลักษณะและขอบเขตของการโกหกของคนเหล่านี้ หลายครั้งน่าใจหาย เช่นเดียวกับท่าทีผ่อนคลายของคนเหล่านี้ ต่อการผลิตเอกสารเท็จ เพื่อหลอกลวงและทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เป็นที่ชัดเจนว่า การพูดความจริงเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับจำเลยบางคน โดยเฉพาะนายณพ ณรงค์เดช ผู้ซึ่งดูเหมือนไม่สามารถจะให้การอย่างตรงไปตรงมาได้เลยในแทบจะทุกเรื่อง และพร้อมที่จะพูดอะไรก็ได้ ถ้าเขาคิดว่านั่นคือ สั่งที่ทำให้เขาได้ประโยชน์แม้เป็นเรื่องเท็จ”
ท้ายที่สุด หลังศาลอังกฤษ มีคำพิพากษา นายณพ คุณหญิงกอแก้ว และนายวีระวงศ์ ก็ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ใด ๆ อีกคดีความที่ศาลอังกฤษจึงถึงที่สุดแล้ว หลังจากนี้ บริษัทฮ่องกงทั้ง 3 แห่ง ก็จะยื่นอุทธรณ์ในส่วนคดีโกงเจ้าหนี้ที่ประเทศไทยต่อไป
ส่วนประเด็นที่ว่า ใครคือผู้ซื้อหุ้นบริษัท WEH ที่แท้จริงนั้น จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดคือ การที่นายณพ ได้ตกลงที่จะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท WEH แทนตนเอง (นอมินี) โดยอ้างว่า ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ จึงสามารถที่จะดูแลกิจการต่างๆ ของบริษัท WEHที่ยังคงดำเนินการอยู่ในประเทศไทยได้ จนนำไปสู่ การตกลงว่า จะทำสัญญาขึ้นมาสองชุด คือ สัญญาซื้อขายหุ้น และสัญญาซื้อหุ้นคืน
แต่เมื่อได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นในเดือนมิถุนายน 2558 และโอนหุ้นแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558 นายณพ ปฏิเสธ ที่จะลงนามในสัญญาซื้อหุ้นคืน ตามที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก ซึ่งในเรื่องประเด็นนี้ ศาลอังกฤษก็ได้มีคำพิพากษาว่านายณพ เคย ตกลง ที่จะเป็นนอมินีเป็นตนเอง(นพพร)จริง แต่ผิดสัญญา หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 นายณพ เดินทางมาพบกับตนเองที่ปารีส จึงแจ้งให้นายณพ โอนหุ้นคืน ถ้าหากไม่ต้องการจะลงนามในสัญญาซื้อหุ้นคืน แต่นายณพปฏิเสธไม่ยอมคืน โดยอ้างผู้มีอำนาจท่านเดิม แต่ยืนยันว่า จะปฏิตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายหุ้น และขอเวลาในการหาเงินชำระค่าหุ้นงวดแรก ตามสัญญาจำนวน 175 ล้านเหรียญ
ทั้งนี้ตนเองได้ให้เวลานายณพเพิ่มอีก 2 เดือน ในการหาเงินมาชำระค่าหุ้นตามสัญญา และกำชับว่า หากผิดนัด ก็จะดำเนินการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการทันที แต่เวลาล่วงเลยมาจนถึงเดือนมกราคม 2559 นายณพ กลับชำระเงินค่าหุ้น มาเป็นจำนวนเพียง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ และพบว่า เงินที่นำมาชำระค่าหุ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นและบางส่วน นำมาจากบริษัท WEH นายณพ ไม่ได้ใช้เงินของตนเองเลยแม้แต่บาทเดียว ตนเองจึงดำเนินการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
กระทั่งต่อมาในช่วงปี 2559 – 2560 นายณพ ไม่สามารถชำระเงินคืนเจ้าหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นได้ จึงร้องขอครอบครัวณรงค์เดช ให้นำที่ดินและทรัพย์สินไปค้ำประกันกับเจ้าหนี้รายใหม่ เพื่อกู้เงินจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท มาคืนเจ้าหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเมื่อหนี้เงินกู้ก้อนใหม่ถึงกำหนดชำระ นายณพ ก็ยังคงไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้อีก จึงทำให้เจ้าหนี้ จำเป็นต้องบังคับชำระหนี้ จากทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทำให้ครอบครัวณรงค์เดช ต้องหาเงินไปชดใช้หนี้ในส่วนนี้แทนนายณพ
ต่อมาในปี 2561 พบว่า หุ้นบริษัท WEH ที่รับโอนไปในนามบริษัทของนายณพ ถูกย้ายโอนต่อไปยัง บริษัทโกลเด้น มิวสิค ซึ่งมีนายเกษม ณรงค์เดช เป็นเจ้าของ ทำให้บริษัทฮ่องกง ทั้ง 3 แห่ง ในฐานะเจ้าหนี้ ดำเนินการร้องต่อศาลฮ่องกง ให้ทำการคุ้มครองหุ้นบริษัท WEH ชั่วคราว โดยห้ามไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอนหุ้นใด ๆ
ซึ่ง นายเกษม เมื่อทราบเรื่อง ก็ทำหนังสือแจ้งว่า จะให้ความร่วมมือ แต่เมื่อนายณพ เห็นว่า นายเกษม อาจโอนหุ้นบริษัท WEH คืนให้ 3 บริษัทฮ่องกงผู้เป็นเจ้าหนี้ นายณพจึงได้ดำเนินการ ทำให้นายเกษม พันจากการเป็นผู้ถือหุ้นและผู้มีอำนาจควบคุมใน บริษัทโกลเด้น มิวสิค โดยใช้เอกสารต่ง ๆ อาทิ สัญญาแต่งตั้งตัวแทนที่ระบุว่า นายเกษมเป็นตัวแทนคุณหญิงกอแก้วและ หนังสือ โอนหุ้นของบริษัทโกลเด้น มิวสิค จากนายเกษม ไปยังคุณหญิงกอแก้ว ซึ่งศาลอังกฤษพิพากษาว่า เอกสารเหล่านี้ ถูกทำขึ้นย้อนหลังและเป็นเอกสารเท็จ ส่วนคุณหญิงกอแก้ว ก็เป็นเพียงแค่หุ่นเชิด ของนายณพเท่านั้น
ทั้งนี้ความจริงแล้ว คุณหญิงกอแก้ว ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนซื้อหุ้นบริษัท WEH และมิได้เป็นเจ้าของที่แท้จริงของบริษัทโกลเด้น มิวสิค หรือ หุ้นบริษัท WEH แต่อย่างใด ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า เจ้าหนี้ทั้ง 3 บริษัทฮ่องกง ไม่เคยเกี่ยวข้องและไม่เคยได้รับเงินชำระค่าหุ้นจากคุณหญิงกอแก้ว.