นายกฯ เปิดเงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล เตรียมออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

"เศรษฐา" เผยจ่อกู้เงิน 5 แสนล้าน เดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10.000 บาท ใช้จ่ายได้ภายในอำเภอ


วันที่ 10 พ.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึง “โครงการ Digital Wallet” โดยระบุว่า รัฐบาลได้ปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท  ทั้งนี้  ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ  หรือ ถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม  และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ

นอกจากนี้รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท  โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน คือ 1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี “ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน”  และ 2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

รัฐบาลไทยเองก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท โดยนโยบายนี้ คือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว  เงินทั้งหมดในโครงการนี้ จะถูกส่งตรงไปให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไขเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล

สำหรับขอบเขตการใช้งาน จะใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชน  ซึ่งปรับขยายมาตามความเห็นของทุกภาคส่วน และต้องจ่ายเงินกันแบบ Face-to-face  เรื่องของระยะเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้ “ครั้งแรก” ก็ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้เงินมีการหมุนเวียน และหากไม่ได้ใช้สิทธิที่เหลืออยู่ก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ  และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษาปี 2570

สำหรับเงื่อนไขใช้ซื้ออะไรได้-ไม่ได้

– ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น

– ไม่สามารถใช้กับบริการได้

– ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้

– ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม

– ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้

– ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้

– ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม ได้

– ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้

– แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

สำหรับประเภทร้านค้า

– ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี

– ไม่จำเป็นต้องจด VAT

– ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอพเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

สำหรับแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ต  ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้องการออก พรบ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา

ทั้งนี้ย้ำว่านโยบาย Digital Wallet นี้ คือ นโยบายที่ประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ผมขอฝากนโยบายนี้ ให้ประชาชนทุกคน ร่วมกันใช้สิทธิด้วยความภาคภูมิใจ เพราะท่านเป็นผู้ร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศชาติของเรา.

Back to top button