ประชุมครม. จับตาถกเรื่องแก้หนี้นอกระบบ-ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะประชุมครม. จับตาการวาระพิจารณาเรื่องขึ้นเงินเดือนให้กับช้าราชการ และเรื่องปัญหาแก้หนี้นอกระบบ
วันที่ 28 พ.ย. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระน่าสนใจเสนอเข้ามาหลายเรื่อง โดยจับตาการเสนอเรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมไปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทย
ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3/66 กล่าวถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คงต้องรอติดตามว่าจะนำเสนอเข้ามายังที่ประชุมครม. ในวันนี้ (28 พ.ย.) หรือในสัปดาห์หน้าหรือไม่ เบื้องต้นเชื่อว่าการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ
นายดนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การขึ้นเงินเดือนคาดว่าจะไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่อาจดูไปที่ระดับข้าราชการเข้าใหม่แรกบรรจุ ที่มีฐานเงินเดือนอาจจะต่ำเมื่อเทียบเงินเดือนภาคเอกชน แต่ทั้งหมดคงต้องรอรายละเอียดและวิธีการเข้า ครม.ก่อน แต่ในแง่การช่วยยืนยันว่าจะไม่ได้ทำทั้งระบบ
ทั้งนี้ก่อนการประชุมครม. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม Kick off มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ณ ด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พร้อมกันนี้ยังคาดว่า หลังจากการประชาสัมพันธ์กิจกรรม Kick off มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แล้ว กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งอนุมัติการดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 โดยจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เก็บสต็อกข้าวในอัตรา 4% ใช้งบประมาณ 780 ล้านบาท ใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะจ่ายคืนให้ทีหลังด้วย
จากนั้นเมื่อการประชุมครม.เสร็จในเวลาประมาณ 11.45 น. นายกรัฐมนตรี จะแถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อในเวลา 13.30 น.
ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ
– กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและประชาชนผ่านโครงการ e-Refund ที่จะเปิดให้ผู้เสียภาษี ซื้อสินค้าในมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1.75 หมื่นบาท โดยจะกำหนดให้มีการใช้จ่ายได้ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.67
นอกจากนี้ จะเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. และ เสนอรายงานกิจการประจำปี งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประจำปีบัญชี 2565 (1 เม.ย.65-31 มี.ค.66)
– กระทรวงมหาดไทย เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และ เสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 28 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด 18 ตำแหน่ง และผู้ตรวจราชการกระทรวงอีก 10 ตำแหน่ง
– สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะเสนอปรับฐานเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ เพื่อให้แข่งขันกับภาคเอกชนได้ ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ
– กระทรวงพาณิชย์ เสนอโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) โดยจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ในอัตรา 4% ของวงเงินสินเชื่อ 780 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรก่อน และ เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ตามมติ ครม.
– สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการค่าเช่าที่ดิน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง, เสนอรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตร กรณีการบริโภค โฟลิก เอซิด (วิตามิน B9)
– สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศไทย หรือการสร้างแนวป้องกันกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประสบปัญหากำลังจะจมบาดาล
– คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอข้อเสนอแนะกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด
– วุฒิสภา เสนอรายงานการพิจารณาศึกษากฎหมายเละอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา