5 หุ้นไฟแนนซ์ร่วงต่อ! วิตกรัฐเร่งแก้หนี้ กดดอกเช่าซื้อไม่เกิน 10%
5 หุ้นไฟแนนซ์ร่วงต่อ! วิตกมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบกว่า 16 ล้านล้านบาท ฉุดรายได้ดอกเบี้ยหด จับตาดอกเบี้ยกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถใหม่ที่ต้องปรับโครงสร้าง คิดดอกไม่เกิน 10%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ธ.ค.66) ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ทั้งหุ้นเช่าซื้อและบัตรเครดิตปรับตัวลงต่อจากแรงกดดันที่เป็นความกังวลมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบของภาครัฐ ซึ่งเน้นแนวทางการลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ และยืดระยะเวลาการผ่อนจ่าย เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลากหลายกลุ่มได้มีโอกาสหายใจได้คล่องขึ้น นำโดยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ณ เวลา 10:52 น. อยู่ที่ระดับ 40.75 บาท ลบ 1.25 บาท หรือลดลง 2.98% ราคาสูงสุด 42.00 บาท ราคาต่ำสุด 40.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 225.15 ล้านบาท
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ณ เวลา 10:55 น. อยู่ที่ระดับ 42.75 บาท ลบ 1.00 บาท หรือลดลง 2.29% ราคาสูงสุด 43.25 บาท ราคาต่ำสุด 42.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 89.12 ล้านบาท
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ณ เวลา 10:56 น. อยู่ที่ระดับ 21.40 บาท ลบ 1.00 บาท หรือลดลง 4.46% ราคาสูงสุด 22.30 บาท ราคาต่ำสุด 21.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 287.24 ล้านบาท
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 10:58น. อยู่ที่ระดับ 43.75 บาท ลบ 1.75 บาท หรือลดลง 3.85% ราคาสูงสุด 45.25 บาท ราคาต่ำสุด 43.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 88.77 ล้านบาท
บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ณ เวลา 11:00น. อยู่ที่ระดับ 4.08 บาท ลบ 0.04 บาท หรือลดลง 0.97% ราคาสูงสุด 4.10 บาท ราคาต่ำสุด 4.06 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.64 ล้านบาท
โดยวานนี้(12 ธ.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยมี กฤษฎา จีนะวิจารณะ และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาพรวมลูกหนี้ในระบบ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่มีรายได้ประจำ มีภาระหนี้จำนวนมาก เกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งทุกกลุ่มที่กล่าวมา มีข้อสังเกตที่เหมือนกันคือ ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไป ทำให้ชำระไม่ไหวอีก ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ บางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ถูกดำเนินการตามกฎหมาย แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกัน แต่ต้นตอของปัญหานั้นต่างกัน
ดังนั้น รัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้ ลูกหนี้กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มนี้ ต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว
สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงค์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่า 99% ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ อาจจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต กลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง
แนวทางแรกคือลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เนื่องจากมีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้ายคือบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมด
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน/ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว ลดดอกเบี้ยหรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร มีรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย
โดยแนวทางแก้หนี้เกษตรกร ราว 2 ล้านคน คือพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี วงเงิน 3 แสนบาท/ราย
แนวทางแก้หนี้นักเรียน (หนี้กยศ.) ราว 5 ล้านคน คือปรับแผนการผ่อนชำระให้เข้ากับรายได้คนเพิ่งเริ่มงาน, ลดดอกเบี้ยให้เงินต้นลดเร็ว, ถอนการอายัดบัญชีให้ลูกหนี้เข้าถึงระบบการเงิน, ให้ผู้ค้ำประกันหลุดจากการค้ำประกัน
แนวทางแก้หนี้เช่าซื้อ คือ สคบ.ควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์, กำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ ต้องไม่เกิน 10%, ลดดอกเบี้ยผิดนัด และให้ส่วนลดลูกหนี้ที่ปิดบัญชีก่อนกำหนด
ลูกหนี้กลุ่มที่ 4 หนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงข่าวหนี้ทั้งระบบนี้ ครอบคลุมหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 90% ของ GDP เมื่อพิจารณาตัวเลขในเครดิตบูโรจะพบตัวเลข 13.5 ล้านล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้นับรวมตัวเลขหนี้ภาคสหกรณ์และกยศ.
ทั้งนี้ ในส่วนของหนี้บัตรเครดิต แม้ยอดหนี้รวมไม่สูง อยู่ที่ 540,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีหนี้ที่ออกอาการเกิดปัญหา 67,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ถือบัตรเครดิต 23.8 ล้านใบนี้ มีส่วนที่น่ากังวล 1.1 ล้านใบ ซึ่งสามารถใช้สิทธิเข้าคลินิกแก้หนี้ได้เลยตามโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3-5% ซึ่งขึ้นอยู่กับวงเงินและระยะเวลาจำนวนปีที่ผ่อน ที่ผ่านมาผู้ออกบัตรเครดิตมีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่า 15% ได้ ในกรณีผู้ใช้บัตรไม่สามารถชำระได้ตามงวดปกติ ซึ่งภาครัฐก็พยายามควบคุมไม่ให้คิดดอกเบี้ยสูงเกินไปอยู่แล้ว