TIDLOR เด้ง 5% นำทีม “หุ้นไฟแนนซ์” คลายกังวลรัฐแก้หนี้-เฟดจ่อลด “ดอกเบี้ย” 0.75% ปีหน้า!
นักวิเคราะห์ชี้นโยบายแก้หนี้ครัวเรือนของภาครัฐแทบไม่กระทบกับหุ้นกลุ่มแบงก์-ไฟแนนซ์ เหตุส่วนใหญ่ทำผ่านธนาคารของรัฐ สบช่องช่วงราคาปรับลง แนะซื้อ KBANK-TISCO-BBL-TIDLOR-MTC-SAWAD
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ธ.ค.66) ณ เวลา 10:04 น. ราคาหุ้น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR อยู่ที่ระดับ 22.60 บาท บวก 1 บาท หรือ 4.63% สูงสุดที่ระดับ 22.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 22.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 135.66 ล้านบาท
ด้าน บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ที่ระดับ 42 บาท บวก 1.75 บาท หรือ 4.35% สูงสุดที่ระดับ 42 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 41.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 83.49 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC อยู่ที่ระดับ 44 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 2.92% สูงสุดที่ระดับ 44.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 43.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 52.73 ล้านบาท
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวนั้น มีมุมมองเป็นกลาง เพราะมาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่ทำผ่านธนาคารของรัฐเป็นหลัก
ขณะที่ฝั่งธนาคารเอกชนเป็นไปตามแนวทางของธปท. ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ทั้งกลุ่มสีฟ้า (ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้ ซึ่งช่วยเหลือมากกว่าการขยายระยะเวลาชำระหนี้) และสีส้ม (จัดชั้นตาม TFRS9 ซึ่งช่วยเหลือเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้) ที่จะสิ้นสุดปี 2566 ครอบคลุมอยู่แล้ว
โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างเป็นทางการ ได้แก่ SCB ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้สีฟ้าราว 11-12% ของพอร์ตสินเชื่อ ตามด้วย TTB ราว 11% ของพอร์ตสินเชื่อ (กลุ่มสีฟ้าและสีส้มที่สัดส่วน 4% และ 7% ตามลำดับ ของพอร์ตสินเชื่อ) ส่วนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบครอบคลุม (CDR) ราว 6.8% ของพอร์ตสินเชื่อ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY (รวมซอฟต์โลน, CDR และสีส้ม) ประมาณ 6% ของพอร์ตสินเชื่อ
ด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อยู่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์อย่าง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชี่ยลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รวมถึงกลุ่มนอนแบงก์อย่าง MTC, TIDLOR และ SAWAD ที่มีพอร์ตเซ่าซื้ออยู่ภายใต้ประกาศข้างต้นอยู่แล้ว
ขณะที่หุ้นสินเชื่อบัตรเครดิตอย่าง บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC (ไม่ได้จัดทำบทวิเคราะห์) ราคาหุ้นที่ปรับฐานจากกระแสลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตช่วงก่อนหน้า มีโอกาสฟื้นตัว หลังปัจจัยดังกล่าวผ่อนคลายลง
สำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มธนาคาร เลือก KBANK ราคาเป้าหมาย 150 บาท และ TISCO ราคาเป้าหมาย 109 บาท ทั้งคู่ได้ SET ESG Rating ที่ AAA ประกอบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจ KBANK อยู่ที่ราว 3.5% และ TISCO ราว 8% ด้าน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาเป้าหมาย 199 บาท ราคาหุ้นซื้อขายบนอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ราว 0.5 เท่า มองว่าไม่แพง
ขณะที่ กลุ่มจำนำทะเบียนรถ เรียงตามความชอบ จากระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage Ratio) คือ TIDLOR ราคาเป้าหมาย 24.5 บาท, MTC ราคาเป้าหมายที่ 42 บาท และ SAWAD ราคาเป้าหมายที่ 48 บาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด ระบุว่า จากประเด็นเรื่องจัดการหนี้ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้าง ขยายเวลาผ่อนจ่ายฯ กลุ่มลูกหนี้ มองว่าผลกระทบจำกัดต่อ KTB หรือแทบจะไม่มีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มแบงก์
นอกจากนี้ ลูกค้าในกลุ่มแบงก์ยังเป็นคนละกลุ่มกับที่ทางภาครัฐเข้าให้การช่วยเหลือ สำหรับด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ที่จะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย มองว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไม่เกินระดับเพดานที่กำหนดอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบ แต่อาจจะมีผลกระทบทางลบเล็กน้อยต่อกลุ่มไฟแนนซ์
ขณะที่มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร มองการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกจากสินทรัพย์ที่มีความเสียงสูงไปยังหุ้นกู้ระยะยาว และคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อจะเติบโตเพียงเล็กน้อย ขณะที่ Net interest margin หรือ NIM อาจจะทรงตัวหรือลดลงตามกลยุทธ์ของแต่ละแบงก์ อย่างไรก็ดีกลุ่มธนาคารทยอยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านของสภาพคล่อง การตั้งสำรองที่สูง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่่สูง คุณภาพสินทรัพย์ที่จัดการได้และมีนโยบายที่เข้มงวด มูลค่าไม่แพงและอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ดี
พร้อมกันนี้ หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ยังได้รับปัจจัยบวกหลัง คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 22 ปี ทั้งนี้การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
โดยในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% จากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายนและปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปี 2568 ทั้งนี้ปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 1.00%
อีกทั้งในปี 2569 เจ้าหน้าที่ (เฟด) อาจส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของลดลงสู่ช่วง 2.00-2.25% ซึ่งใกล้กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.50% ขณะเดียวกันในแถลงการณ์หลังการประชุมได้สัญญาณยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ระบุว่าคณะกรรมการจะทำการพิจารณาปัจจัยหลายประการสำหรับการคุมเข้มนโยบายการเงินใดๆ ที่จะมีขึ้นอีก ซึ่งเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เคยมีมาก่อนในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้