PTTGC ร่วง 6% วิตกต้นทุนก๊าซพุ่ง โบรกชี้กระทบกำไร 10% ต่อปี

PTTGC ร่วง 6% วิตกต้นทุนก๊าซพุ่ง หลังรัฐมีแผนปรับโครงสร้างราคาก๊าซที่เข้า-ออกโรงแยกก๊าซจากเดิมใช้ราคา Gulf Gas ให้เป็นราคา Pool Gas ที่สูงมากระทบผลดำเนินงานของบริษัทในปีหน้า ขณะที่โบรกฯ คาดกระทบต่อกำไรประมาณ 10% ต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ธ.ค. 66) ราคาหุ้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ณ เวลา 11:35 น. อยู่ที่ระดับ  38.25 บาท ลบไป 2.25 บาท หรือลงไป 5.56% สูงสุดที่ระดับ 40.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 38.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 533.50 ล้านบาท

นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐมีแผนที่จะปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่เข้า-ออกโรงแยกก๊าซฯ จากเดิมใช้ราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) ให้เป็นราคา Pool Gas (ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยจากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอนจี) นั้น จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อย่างมีนัยสำคัญ หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยปัจจุบันราคา gulf gas เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ ราคา pool gas อยู่ที่ประมาณ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งแตกต่างกันเกือบเท่าตัว ดังนั้นหากโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ทั้ง 6 แห่ง จะต้องซื้อก๊าซฯ ในราคาที่แพงขึ้นในปี 2567 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย และมีโอกาสสูงที่ปตท.จะลดกำลังการผลิตลง เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ของปตท.ปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 1.ก๊าซมีเทน (C1) สัดส่วน 25% ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูง เรียกว่าก๊าซธรรมชาติอัด สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ 2.ก๊าซอีเทน (C2) สัดส่วน 25% ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น สามารถนำไปใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่าง 3.ก๊าซโปรเทน (C3) และ 4.ก๊าซบิวเทน (C4) เมื่อนำมารวมกันก็จะได้ LPG รวมกันมากกว่า 50%

ทั้งนี้ หากโรงแยกก๊าซฯ ลดกำลังผลิต LPG อาจจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อชดเชยกำลังผลิตภายในประเทศที่หายไป  ซึ่งจะทำให้ราคา LPG ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนของ PTTGC จะสูงขึ้นด้วย จากเดิมที่ได้ก๊าซญ ในราคา Gulf Gas เปลี่ยนมาเป็น Pool Gas ที่สูงกว่ามากระทบผลการดำเนินงานของบริษัทในปีหน้า

ด้านนายสุวัฒน์ สินสาฎก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของภาครัฐว่า จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงแยกก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ทั้ง 6 แห่ง ทำให้การส่งมอบก๊าซฯ ไปยังบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนของปตท.จะส่งผลกระทบต่อกำไรประมาณ 3-4% ต่อปี ขณะที่ PTTGC จะกระทบต่อกำไรประมาณ 10% ต่อปี

Back to top button