NER บวก 3% ลุ้นกำไรปี 67 โตเด่น รับออเดอร์แน่น-ธุรกิจแผ่นปูปศุสัตว์หนุน

NER วิ่ง 3% เดินหน้าปั้นธุรกิจแผ่นปูปศุสัตว์ หนุนรายได้-กำไร ตั้งเป้าปี 67 ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 5-10% รายได้โตจากราคายางสูงขึ้น ล่าสุดตุนออเดอร์ลากยาวถึงกลางปี 67


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ธ.ค. 66) ราคาหุ้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER  ณ เวลา 16:01 น. อยู่ที่ระดับ 4.98 บาท บวก 0.14 บาท หรือ 2.89% สูงสุดที่ระดับ 4.98 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.82 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 57.64 ล้านบาท

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER เปิดเผยว่า ปัจจุบันฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งมาก และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในระยะ 1 ปี มูลค่า 1,300 ล้านบาท ได้คืนไปหมดแล้ว และยังเหลือกระแสเงินสดรองรับการดำเนินธุรกิจอีกมาก รวมทั้งในปี 2567 ไม่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้ หรือระดมทุนมาคืนหุ้นกู้ และไม่มีแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่ม สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัว และการเติบโตของธุรกิจ ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายปี 2567-2568 เตรียมพร้อมในทุก ๆ ภาคส่วนในการขับเคลื่อนธุรกิจแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์ ทั้งสำหรับวัว และหมู รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น คุณภาพ การขยายฐานลูกค้า และการขยายตลาดประเทศต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้เกิดสมดุล หรือดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อว่าในปี 2568 จะเริ่มเห็นผลตอบแทนเข้ามา และทำจุดสูงสุด (พีก) ในปี 2569 ทั้งรายได้ และกำไร อย่างเต็มที่เข้ามาช่วยสนับหนุนพอร์ตธุรกิจหลัก

ทั้งนี้ ธุรกิจแผ่นปูรองนอนปศุสัตว์ ได้มุ่งเน้นตลาดแผ่นปูสำหรับฟาร์มหมูมากขึ้น เนื่องจากได้การตอบรับที่ดีมากจากตลาด หรือฟาร์มหมู ทั้งลูกค้ารายใหญ่ และรายย่อย ส่วนแผ่นปูสำหรับวัว ยังคงขยายตลาดต่อเนื่องเช่นกัน เบื้องต้นมีแผนขยายตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงมีการจับมือกับคู่ค้าญี่ปุ่นในการขยายตลาดแผ่นปูรองสำหรับวัว ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการตอบรับของตลาดว่าจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายมีปริมาณการขายไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน หรือจะเพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันเดินเครื่องกำลังการผลิตอยู่ในระดับที่สูง และรายได้จากการขายน่าจะทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นกว่าปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเดิม เนื่องจากราคายางที่สูงขึ้น และยอดขายขยายตัวตามอุตสาหกรรมยางล้อ ที่กำลังได้รับผลบวกของกระแสยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ส่วนปัจจัยเสี่ยงคงเป็นเรื่องภัยแล้ง (เอลนีโญ) ที่อาจกระทบต่อซัพพลาย ต้องติดตามครึ่งปีแรกของปี 2567 หากไม่รุนแรงจะเป็นอีกปีที่ดีมากของธุรกิจ

นอกจากนี้ปัจจุบันฐานลูกค้าหลักของบริษัทยังคงเป็นจีน (มากกว่า 60%) ส่วนที่เหลือเป็นไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มต่อเนื่อง ทั้งในประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย รวมทั้งมีคำสั่งซื้อ(Order) ในมือรองรับลากยาวเลยกลางปี 2567 แล้ว จากออเดอร์จากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูง และราคายางที่ปรับตัวดีขึ้นจะสะท้อนราคาขายที่สูงขึ้นเต็มไตรมาส 1/2567 ด้วย

Back to top button