“ศิริกัญญา” วิจารณ์งบปี 67 อัดรัฐบาลโกงสูตรปรับจีดีพี

"ศิริกัญญา" อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตั้งคำถามรัฐบาลโกงสูตรปรับจีดีพีหรือไม่ ชี้เป้าไม่มีงบดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมแซะวิกฤตแบบไหนทำทำไมงบ “กลาโหม” เพิ่มขึ้น 2%


วันที่ 3 ม.ค.2567  ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า เมื่อดูงบประมาณ 2567 ก็เกิดคำถามว่า วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองได้ย้ำในหลายครั้งว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งงบประมาณจะเป็นตัวบอกว่าอยู่ในภาวะแบบใด จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองวิกฤติอย่างไรบ้าง

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายต่อไปว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ดูแล้วยังไม่ค่อยวิกฤติ ซึ่งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีตรงที่บอกได้ว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่งบประมาณฉบับประชาชนยังพบด้วยว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพี (GDP) โต 5.4% ในปี 2567  ซึ่งถ้าเศรษฐกิจโต 5% แต่เมื่อดูดีๆแล้ว นี่คือการเติบโตของจีดีพีที่รวมเงินเฟ้อ เกิดคำถามว่า รัฐบาลโกงสูตรปรับจีดีพีหรือไม่ ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำมาก่อน ขอร้องว่าอย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ตามปกติในปีที่เกิดวิกฤติ เราจะทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ กู้เงินเพิ่มไปชดเชยรายได้ที่หายไป และมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อดูจากที่รัฐบาลจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางเอาไว้ในปี 2567-2570 พบว่าขาดดุลเท่าเดิมทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤติ ทำไมรัฐบาลประมาณการว่าจะต้องทำงบขาดดุลสูงถึง 3.4% ไปเรื่อยๆ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศว่า จะทำงบประมาณให้สมดุล คือไม่กู้เลยสักบาท ภายใน 7 ปี แต่ 4 ปีแรกกลับกู้ทุกปี

ในส่วนของนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่ปรากฏในงบประมาณปี 2567 ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันลดเหลือเพียง 15,000 ล้านบาท โดยต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะออกได้หรือไม่ พร้อมมองว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ ถ้าออกไม่ได้ จะเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์

ขณะที่การพักหนี้เกษตรกร ก็ไม่ได้ใช้งบปี 2567 เป็นงบในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนการลดภาระใช้จ่ายพลังงาน จะเคลมลดค่าไฟที่ทำมาหลายปีแล้วใช่หรือไม่ รวมถึงการผลักดันการท่องเที่ยว ซึ่งหลายเรื่องต่อเนื่องมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ซึ่งวิกฤติแบบใด ทำไมงบกลาโหมเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติ กระทรวงกลาโหมจะเสียสละเพื่อประเทศโดยการตัดลดงบประมาณของตัวเอง เพื่อนำไปใช้ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในวิกฤติของ นายเศรษฐา งบกลาโหมเพิ่มขึ้น 2% สรุปแล้วนี่มันวิกฤติแบบใดกันแน่

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หาไม่เจอ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันมีการสอดไส้ มีการนำงบไปใช้หนี้เก่าของรัฐบาลก่อนๆ ที่ผ่านมา ดังนั้น ถึงเวลาต้องปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ มีการรื้องบประมาณถึง 2 รอบ แต่การเปลี่ยนงบประมาณใต้ระเบียบและกรอบเดิมๆ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของตัวเองแทบจะเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังมีมรดกที่ตกทอดมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่ไม่ยอมปฏิรูปและแก้ไขปัญหา ทำให้งบที่จัดสรรได้เองเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 ซึ่งมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่ ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องถอดบทเรียน

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดิฉันไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่องหาเงินได้ ใช้เงินเป็น กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ จะตั้งใจ ไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ก็ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัย และก็ไม่คิดที่จะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ และก็ไม่สนใจเรื่องของภาระทางการคลัง มันคงถึงเวลาที่ประชาชนคงต้องคิดใหม่กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

Back to top button