WPH บวกแรง 9% “ออลไทม์ไฮ” แย้ม Q4/66 พีกสุด-ปักธงปีนี้รายได้พุ่ง 1.7 พันล้าน
WPH บวกแรง 9% “ออลไทม์ไฮ” แย้มไตรมาส 4/66 พีกสุดของปี ปักธงปีนี้รายได้ทำนิวไฮพุ่ง 1.7 พันล้าน ทุ่มงบผุดโรงพยาบาลใหม่ รองรับผู้ป่วยประกันสังคมครั้งแรก พร้อมชู “รพ.วัฒนแพทย์สมุย-รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง-รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง” เติบโต หลังต่างชาติทะลักเข้ารักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ม.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง จำกัด (มหาชน) หรือ WPH ล่าสุด ณ เวลา 15:53 น. อยู่ที่ระดับ 7.35 บาท บวก 0.60 บาท หรือ 8.89% สูงสุดที่ระดับ 7.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.75 บาท ด้วยมูลการซื้อขาย 32.05 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาดฯเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560
โดยก่อนหน้ายี้นายเชน เหล่าสุนทร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WPH เปิดเผยกับทาง “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายพอร์ตรับผู้ป่วยประกันสังคมเพิ่มเติมเป็นครั้งแรกภายในช่วงปลายปี 2567 และน่าจะเริ่มรับรู้รายได้เต็มที่ในปี 2568 จากเดิมที่รับเฉพาะผู้ป่วยประกันภัย และผู้ป่วยเงินสด
โดยเบื้องต้นบริษัทมีแผนจะมีการลงทุนขยายอาคารโรงพยาบาล เพื่อรับผู้ป่วยประกันสังคม บนพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งได้ซื้อที่ดินจัดเตรียมไว้แล้ว (รายละเอียดงบลงทุนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง) เป็นทำเลแยกออกจากโรงพยาบาลเดิมอย่างชัดเจน คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1-2 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ และสรุปขนาดเตียงบริการ
ทั้งนี้ ในระยะแรกในปี 2567 จะเป็นช่วงที่ทางโรงพยาบาลต้องพยายามดึงสมาชิกผู้ป่วยประกันสังคมให้ได้มากที่สุด และการบริการทางการแพทย์จะเป็นการเช่าอาคารนำมาปรับปรุงใหม่ (รีโนเวท) ด้วยงบลงทุนที่ไม่สูงมาก เพื่อรับผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยทั่วไปก่อน ในระหว่างรอการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่แล้วเสร็จตามที่กล่าวข้างต้น
สำหรับในปี 2566-2567 บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตได้ดีมาก หรือทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ด้วยรายได้รวมแตะระดับ 1,600-1,700 ล้านกบาท จากปัจจัยบวกสนับสนุนทั้ง 3 ทำเลของโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการอยู่ โดยโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ สมุย (รพ.วัฒนแพทย์ สมุย) ในปี 2566 เปิดบริการได้เพียง 9 เดือน และในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่รับรู้รายได้จากการให้บริการเต็มปี อีกทั้งในช่วงแรกของ รพ.วัฒนแพทย์ สมุย ยังไม่ได้รับผู้ป่วยประกันภัย (เป็นรายได้หลักของรพ.เอกชน) แต่เพิ่งเริ่มรับผู้ป่วยประกันภัยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่รับผู้ป่วยประกันภัยเต็มปีเช่นกัน
ขณะที่ รพ.วัฒนแพทย์ สมุย ยังได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว แบ่งเป็น 1.ต่างชาติ (นักท่องเที่ยว) ที่เข้ามาตามฤดูกาลตั้งแต่คริสต์มาสยาวไปถึงเดือน มี.ค. 2567 และ 2.กลุ่มต่างชาติพำนักในประเทศ (Expat) ที่มีจำนวนมากอยู่แล้วเป็นฐานเดิม แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2566 มาจนถึงปัจจุบันทาง รพ.สมุย มีลูกค้ารัสเซียเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลังมีการลี้ภัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งเริ่มมีชาวอิสราเอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาสงครามเช่นกัน
ส่วนโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ กระบี่ (รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง) มีปัจจัยบวกค่อนข้างมากเช่นกัน โดยช่วง ม.ค. 2566 เริ่มบริการศูนย์หัวใจ จากเดิมที่จังหวัดกระบี่ไม่มีศูนย์หัวใจ ดังนั้นผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจในกระบี่ และพังงา จะเข้ามารักษากับทางโรงพยาบาลทั้งหมด ที่สำคัญรับผู้ป่วยทุกสิทธิอีกด้วย
นอกจากนี้ช่วงกลางปี หรือไตรมาส 3 ของทุกปีจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของ รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีเตียงรับผู้ป่วยใน (IPD) ไม่เพียงพอมาตลอด แต่ในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย หลังจากลงทุนขยายเตียงเพิ่มอีก 31 เตียง ดังนั้นในไตรมาส 3/2567 จะเป็นปีแรกที่ รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง จะเติบโตก้าวกระโดด จากความสามารถรองรับผู้ป่วยต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเดิมมีรายได้ผู้ป่วยต่างชาติอยู่ในระดับสูง 35% จะเพิ่มเป็น 40%
ด้านโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง (รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง) ล่าสุดเพิ่งลงทุนซื้อเครื่องไฮเปอร์แบริค แชมเบอร์ หรือเครื่องออกซิเจนความดันสูง ที่ใช้รักษาโรคน้ำหนีบ ซึ่งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ลากยาวไปมาเลเซีย ไม่มีเครื่องนี้เลย ซึ่งบริษัทจะได้ผู้ป่วยจากการดำน้ำเข้ามาได้ทั้งหมดในฝั่งอันดามัน (คาบเกี่ยวโซนกระบี่บ้าง) และส่วนใหญ่เป็นต่างชาติรายได้ต่อหัวสูงถึง 400,000-800,000 บาท มองว่าจะช่วยให้คืนทุนต่อเครื่องได้เร็ว
โดย รพ.วัฒนแพทย์ ตรัง ยังได้มีการเพิ่มแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยหนุนจำนวนผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้น และช่วยดึงส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในจังหวัดตรังได้อีกมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากโรงพยาบาลคู่แข่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ และปรับราคาบริการขึ้น ทำให้ผู้ป่วยหันมาใช้บริการกับทางโรงพยาบาลของบริษัทมากขึ้นอีกด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 จะเติบโตดีมาก และทำจุดสูงสุด (พีก) ของปี 2566 ช่วยหนุนให้ภาพรวมทั้งปี 2566 งบการเงินจะออกมาน่าพอใจ โดยมีฐานผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมาย 20% ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำได้สูงสุดในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 0%) และในปี 2567 สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%