วิตกปัญหาตะวันออกกลาง-ศ.ก.จีน กดดอลล์อ่อนค่า
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินเยนเมื่อคืนนี้ (4 ม.ค.) เนื่องจากความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางและข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอได้หนุนความต้องการสกุลเงินเยน ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 119.31 เยน จาก 120.18 เยน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0020 ฟรังก์ จาก 1.0019 ฟรังก์
ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0832 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0870 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่เงินปอนด์ลดลงที่ 1.4715 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4740 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7184 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7288 ดอลลาร์
นักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เนื่องจากซาอุดิอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงชาวอิหร่านได้ก่อเหตุโจมตีสถานทูต และสถานกงสุลของซาอุดิอาระเบียในอิหร่าน เพื่อตอบโต้การที่ซาอุดิอาระเบียได้ประหารชีวิตนักโทษคดีก่อการร้าย 47 ราย รวมถึง นิมร์ อัลนิมร์ นักบวชนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2554
ขณะเดียวกัน ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ย่ำแย่ก็เป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกไปทั่วโลก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซินในเดือนธ.ค. ลดลงสู่ระดับ 48.2 จาก 48.6 ในเดือนพ.ย. ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัว
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ หลังมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีในเดือนธ.ค. โดยมาร์กิตระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 51.2 ในเดือนธ.ค. ลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 51.3 และต่ำลงจากจากระดับ 52.8 ในเดือนพ.ย.
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างร่วงลง 0.4% ในเดือนพ.ย.2558 ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2557 ตัวเลขการใช้จ่ายที่ลดลงในเดือนพ.ย. ถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง หลังพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนต.ค. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550 การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างที่ร่วงลงในเดือนพ.ย.ได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในภาครัฐ และเอกชน