ทริสฯคงเครดิตองค์กร TTA ที่”BBB+”,คงเครดิตหุ้นกู้ที่ “BBB/Stable”
ทริสฯคงเครดิตองค์กร TTA ที่"BBB+",คงเครดิตหุ้นกู้ที่ "BBB/Stable"
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ที่ระดับ “BBB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพียงพอในธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งของบริษัท ตลอดจนความหลายหลายของธุรกิจ และงบการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากการเพิ่มทุน
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าและธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่ง การลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันดิบซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการให้บริการวิศวกรรมใต้ทะเลและการขุดเจาะนอกชายฝั่ง รวมถึงความเสี่ยงและผลงานที่ค่อนข้างสั้นในการซื้อกิจการของบริษัท ทั้งนี้ อันดับเครดิตตราสารหนี้มีระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นเนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 20% หลังจากบริษัทรับมอบเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะลำใหม่แล้ว
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจบริการนอกชายฝั่งจะสามารถรองรับความผันผวนของอุตสาหกรรมได้ในระยะปานกลาง ผลการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอ่อนแอลงในปี 2559 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองและเมื่อบริษัทสามารถหาสัญญาจ้างสำหรับเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะได้
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทนั้นค่อนข้างจำกัดจากมุมมองต่ออนาคตของอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าและการให้บริการนอกชายฝั่งที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลประกอบการของบริษัทดีกว่าที่ประมาณการเป็นระยะเวลานาน
อันดับเครดิตของบริษัทหรือแนวโน้มอาจได้รับการปรับลดลงหากผลประกอบการของบริษัทหรือกระแสเงินสดถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เหตุดังกล่าวอาจเกิดได้จากสภาวะอุตสาหกรรมของเรือขนส่งสินค้าและการให้บริการนอกชายฝั่งที่อ่อนแอเป็นระยะเวลานาน หรือการรับเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะในขณะที่ยังไม่มีสัญญาจ้าง และอัตราค่าจ้างเรือหรืออัตราการใช้งานของธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งที่แย่กว่าที่ประมาณการไว้
บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ก่อตั้งในปี 2525 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2538 ณ เดือนกันยายน 2558 ตระกูลมหากิจศิริมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 28% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เป็นบริษัทลงทุนในธุรกิจหลัก 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกอง ธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเลและขุดเจาะนอกชายฝั่งสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยในประเทศเวียดนาม และธุรกิจซื้อขายถ่านหิน โดยบริษัทมีรายได้เต็มปี ณ สิ้นปีบัญชีเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ประมาณ 21,400 ล้านบาท และมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 2,200 ล้านบาท ธุรกิจบริการนอกชายฝั่งทะเลมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในขณะที่ธุรกิจเรือขนส่งสินค้ามีสัดส่วนคิดเป็น 30% โดยส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจค้าปุ๋ยและลงทุนต่าง ๆ
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ยาวนานในธุรกิจเรือขนส่งสินค้าและธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง โดย ณ เดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองจำนวน 38 ลำ ในจำนวนนี้ 24 ลำเป็นเรือที่บริษัทเป็นเจ้าของ และอีก 14 ลำเป็นเรือที่บริษัทเช่าใช้งาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าระวางเรือเป็นสำคัญ ภาวะชะลอตัวของการค้าในตลาดโลกและอุปทานส่วนเกินของเรือขนส่งสินค้าส่งผลให้ค่าระวางเรือลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยเฉพาะเรือที่บริษัทเป็นเจ้าของนั้นลดลง 26% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งอยู่ที่ 6,752 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดคิดเป็นประมาณ 5,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าระวางเรือจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2560 เนื่องจากสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในธุรกิจเรือขนส่งสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไร (จากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ของธุรกิจเรือขนส่งสินค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงประมาณ 10% จาก 16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนธุรกิจให้บริการวิศวกรรมนอกชายฝั่งของบริษัทนั้นดำเนินการโดย บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสิงค์โปร์ โดย ณ เดือนกันยายน 2558 บริษัทถือหุ้นในบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ คิดเป็นสัดส่วน 58.2% บริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ เป็นเจ้าของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลจำนวน 7 ลำและเรือขุดเจาะแบบ Tender จำนวน 2 ลำ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 บริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ มีปริมาณงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ในธุรกิจให้บริการวิศวกรรมใต้ทะเลประมาณ 256 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในระหว่างปี 2558-2560
นอกจากนี้ บริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ ยังมีบริษัทร่วมที่เป็นเจ้าของเรือขุดเจาะแบบ Jack-up อีกจำนวน 3 ลำ โดยเรือขุดเจาะทั้ง 3 ลำนั้นทำสัญญาจ้างงานกับ Saudi Aramco Oil Company และสามารถสร้างส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2556-2559 พร้อมทั้งมีทางเลือกในการต่อสัญญาอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในช่วงการขยายกองเรือโดยได้สั่งต่อเรือขุดเจาะแบบ Tender ลำใหม่จำนวน 2 ลำซึ่งคาดว่าจะได้รับการส่งมอบในปี 2559 อย่างไรก็ตาม เรือขุดเจาะดังกล่าวยังไม่มีสัญญาจ้างงานแต่อย่างใด
จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ณ ปัจจุบัน บริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซหลายแห่งได้เริ่มตัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขุดเจาะนอกชายฝั่งลงพร้อมทั้งเริ่มเจรจากับผู้ให้บริการเพื่อขอลดอัตราค่าบริการ หากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปเป็นระยะเวลานาน บริษัทเมอร์เมด มาริไทม์จะเผชิญกับความยากลำบากในการหาสัญญาจ้างงานเพื่อชดเชยกับปริมาณงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบที่ลดลง และการหางานสำหรับเรือขุดเจาะลำใหม่ สถานะทางเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์รับมอบเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะลำใหม่โดยที่ยังไม่มีสัญญาจ้างงาน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ นำส่งกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในสัดส่วนที่มากที่สุดแก่บริษัท
ความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัทเป็นปัจจัยบวกที่จะปกป้องบริษัทจากวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 7,300 ล้านบาทในช่วงต้นปี 2558 บริษัทยังมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมประมาณ 14,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณเงินกู้รวมของบริษัทที่ 14,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาทในปี 2559 เพื่อใช้ซื้อเรือวิศวกรรมใต้ทะเล 1 ลำและเรือขุดเจาะ 2 ลำที่สร้างใหม่ โดยบริษัทวางแผนจะใช้เงินกู้ในการจ่ายชำระค่าเรือดังกล่าว
สมมติฐานกรณีฐานของริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองและการให้บริการนอกชายฝั่งน่าจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2560 โดยสถานะการเงินที่แข็งแรงของบริษัทน่าจะช่วยรองรับผลกระทบและทำให้บริษัทผ่านพ้นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมไปได้ อัตรากำไรของบริษัทคาดว่าจะอ่อนแอลงในปี 2559 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 11%-13% ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ ได้รับสัญญาจ้างงานสำหรับเรือวิศวกรรมใต้ทะเลและเรือขุดเจาะลำใหม่ได้ในปี 2560 ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอย่างน้อย 2,000 ล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย ในระหว่างปี 2559-2560 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 35%-38% หลังจากบริษัทซื้อเรือขุดเจาะแล้ว อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับเกินกว่า 4 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่สูงกว่า 10% โดยเฉลี่ย