ศาลฟันเปรี้ยง“พิธา-ก้าวไกล”ล้มล้างการปกครอง จับตาแผนเดินหมาก“นักร้อง”เอาผิดขั้นยุบพรรค

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียงใช้ ม.112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จับตาแผนเดินหมากการเมือง ร้องเอาผิดขั้นยุบพรรค


วันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 17/2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) อดีตทนายความพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 และใช้การแก้ไขมาตรา 112 รณรงค์หาเสียง เป็นนโยบายพรรค เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยเห็นว่ามาตรา 112 แม้เป็นประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีศักดิ์ทางกฎหมายในเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ การแก้ไขเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ต้องคุ้มครองความมั่นคงราชอาณาจักร และการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายต้องการให้ไม่มีความสำคัญ และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงต่อประเทศ มุ่งหมายแยกสถาบันกษัตริย์ และความเป็นชาติไทยออกจากกัน กระทบความมั่นคงของรัฐ อย่างมีความสำคัญ

นอกจากนี้ การที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียง เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง เป็นการดึงสถาบันลงมา หวังผลชนะการเลือกตั้ง ให้สถาบันเป็นคู่ขัดแย้ง กลายเป็นฝ่ายรณรงค์ทางการเมือง ไม่คำนึงหลักการสำคัญในการปกครอง ที่สถาบันอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง การเสนอแก้ไข ม.112 ดังกล่าวมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ ให้เสื่อมทรามลง

การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดศีลธรรมอันดี ต้องสอดคล้องกับสิทธิของบุคคลทางการเมือง ไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ไม่กระทบความสงบเรียบร้อย และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

ทั้งนี้ศาลระบุเหตุผลว่า การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกลแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการหาทางรัฐสภา และการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับมีการรณรงค์การแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน

การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงจึงแสดงถึงเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความทรุดโทรม เสื่อมทราม ซึ่งสามารถนำไปสู่การการล้มล้างการปกครองได้ ดังนั้นหากยอมให้บุคคลทั้งสองดำเนินการต่อไปก็ไม่ไกลที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้    ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว และเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกระบวนการนิติบัญญัติที่โดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ มีการคาดกันว่าเมื่อคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะนี้ ก็อาจจะมีคนนำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยื่นกระบวนการต่อไปได้ โดยส่งเรื่องให้กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี และขณะเดียวกันก็อาจจะมีผู้ที่นำคำวินิจฉัยไปยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเอาผิดพรรคก้าวไกล ฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่ง กกต.ต้องอาจจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคได้ในอนาคต

Back to top button