คอตก! “กิตติศักดิ์-ยสบวร”เข้าคุกศาลไม่ให้ประกันตัวคดี STARK ประสาน DSI ตามตัว “วนรัชต์”

ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว “กิตติศักดิ์-ยสบวร” หลังอัยการคดีพิเศษส่งฟ้องคดี STARK เพิ่มเติม พร้อมประสาน DSI ตามตัว “วนรัชต์” มาดำเนินคดี เหตุไม่มาตามนัดก่อนส่งทนายความของเลื่อนอ้างป่วยกะทันหัน


ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณีที่วันนี้ (9 ก.พ. 67) พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีทุจริต บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้นัดพิจารณาคดี สำหรับผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกสั่งฟ้อง 4 ราย ประกอบด้วย นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ,นางสาวยสบวร อำมฤต ,นายชนินทร์ เย็นสุดใจ และนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม

โดยอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องเพิ่มเติม นายกิตติศักดิ์ และ นางสาวยสบวร พร้อมนำตัวบุคคลทั้ง 2 รายส่งเรื่องให้ศาลอาญาพิจารณา  ก่อนที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.433/2567 โดยนายกิตติศักดิ์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นโดยเสนอหลักทรัพย์โฉนดที่ดิน 3 ฉบับ แต่ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก กระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง และมูลค่าความเสียหายสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่า จะหลบหนี ศาลจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมยกคำร้องดังกล่าว

ขณะที่นายวนรัชต์ ได้ส่งทนายมาขอเลื่อนการรับฟังความเห็นของอัยการเจ้าของสำนวนคดี โดยอ้างถึงปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน

ทั้งนี้มีรายงานว่า สำนักงานอัยการคดีพิเศษ1 ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามตัวนายวนรัชต์มาดำเนินคดี หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวมีคำสั่งฟ้อง นายวนรัชต์ ในความผิดฐานเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว , ในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมกรบริษัทย่อยและผู้บริหารบริษัทย่อย , กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

แต่เนื่องจากนายวนรัชต์  ไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัด จึงขอให้จัดการติดตามให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด และหากตรวจสอบแล้วพบว่า นายวนรัชต์ อยู่ต่างประเทศให้จัดการให้ได้ตัวมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141วรรคท้าย (ส่งผู้ร้ายข้ามเเดน)โดยให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด และตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดให้ครบถ้วน

ด้าน นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้  STARK  เปิดเผยว่า  นายกิตติศักดิ์ เป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับยอดซื้อและยอดขายต่างๆ ส่วน นางสาวยสบวร เป็นเลขานุการและมือขวาของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่หนีไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุด แต่เป็นผู้ที่ทำงานให้กับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ส่วนกรณีนายวนรัชต์ ที่ไม่ได้เดินทางมาฟังอัยการ โดยมีกระแสข่าวว่าป่วยเป็นโรคหัวใจต้องได้รับการผ่าตัดนั้น นายวีรพัฒน์ ได้ฝากความหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐรีบติดตามตัวมาพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล ซึ่งก่อนหน้านี้บอกว่าจะช่วยเหลือผู้เสียหาย แต่ไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้านายวนรัชต์มีความบริสุทธิ์ใจ ผู้เสียหายก็พร้อมคุยและเชื่อว่าศาลอาญาอาจจะพิจารณาโทษหนักให้เป็นเบาได้ ในส่วนของใบรับรองแพทย์นั้นทางกลุ่มผู้เสียหายเห็นของทนายที่ถือมายื่น โดยอัยการได้รับเอกสารแล้ว จากนี้อัยการก็จะประสานติดตามข้อเท็จจริงกับทางโรงพยาบาลต่อไป

ขณะที่ นายจรัญพัฒณ์ บุญยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY ในฐานะตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า บริษัทของตนเองก็มีความเสียหายจากการลงทุนเช่นกัน จึงต้องออกมาเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรม การที่ผู้เสียหายรวมตัวกันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องการให้คนกระทำผิดมาชดใช้ ส่วนตัวบริษัทเสียหาย 16 ล้านบาท อย่างไรก็ดีเห็นว่าคนที่กระทำผิดควรต้องชดใช้มากกว่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง พร้อมกับดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

 

Back to top button