BGRIM วิ่ง 3% รับข่าวดี 2 เด้ง “กกพ.” จ่อปรับค่า Ft เพิ่ม-ลุยไฟมะกัน-ออสซี่

BGRIM บวก 3% รับ 2 ข่าวดี 2 เด้ง หลัง “กกพ.” จะปรับค่า Ft รอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 67) ที่ยืนระดับสูงต่อเนื่อง 4.18-5.43 บาทต่อหน่วย รวมถึงแผนลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เพื่อผลักดันกำลังการผลิต 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 73


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 11:59 น. อยู่ที่ระดับ 29.25 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 2.63% สูงสุดที่ระดับ 30 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 28.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 491.58 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น BGRIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในวันนี้ ขานรับค่าไฟฟ้างวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 67) ยืนระดับสูงต่อเนื่อง 4.18-5.43 บาทต่อหน่วย รวมถึงประเด็นแผนการเติบโตของบริษัท ที่ล่าสุดเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย เพื่อผลักดันกำลังผลิตให้เติบโตแตะระดับ 1 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 73

ด้านนางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-สายงานการเงินและบัญชี BGRIM เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในต่างประเทศว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ได้ประกาศเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 2 แห่งในประเทศเกาหลี กำลังผลิตติดตั้งรวม 740 เมกะวัตต์ ดังนั้นบริษัทยังคงมุ่งเน้นการขยายการลงทุนไปในโครงการใหม่ ๆ เพื่อเสริมให้ New S-Curve ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนขยายกำลังการผลิตสู่ 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 73 บริษัทคาดจะใช้งบลงทุนไว้ประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สัดส่วนเงินกู้ประมาณ 70-75% และใช้ส่วนทุนประมาณ 25-30% สำหรับเงินลงทุนในส่วนของ BGRIM คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และบางส่วนจากการระดมทุน เช่น การออกหุ้นกู้ เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มนำเข้าก๊าซ LNG ได้ภายในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ภายหลังจากการพูดคุยเรื่องกฎระเบียบกับทาง ปตท. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการกำหนดกฎเกณฑ์ (Pool manager) พร้อมคาดว่าการนำเข้า LNG เอง จะช่วยหนุนให้บริษัทไม่ต้องจ่ายมาร์จิ้นให้กับผู้ขายก๊าซฯ ในปัจจุบัน

โดยในปี 67 บริษัทคาดว่าจะได้รับผลดีจากราคาก๊าซฯ ที่ปรับตัวลดลง โดยคาดจะอยู่ในระดับ 320-350 บาทต่อล้านบีทียู (MMBTU) จากปีก่อนอยู่ที่ 377.31 บาทต่อล้านบีทียู อีกทั้งมีการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า รวมถึงการขยายความร่วมมือกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มลูกค้า IU ใหม่ประมาณ 50-60 เมกะวัตต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 52.1 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติม

ขณะที่ กำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้จะมีการรับรู้โรงไฟฟ้าอ่างทอง 2-3 ที่จะเดินเครื่องเต็มปี กำลังการผลิตรวม 280 เมกะวัตต์ (MW) หลังจากเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเมื่อไตรมาส 4/2566 ที่ผ่านมา และโครงการที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถ COD เข้ามาเพิ่ม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 2 แห่ง ในประเทศเกาหลี กำลังการผลิตรวม 740 เมกะวัตต์ คือ โครงการ Nakwol 1 ขนาดกำลังการผลิต 365

เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 20 ปี คาดว่าจะ COD ในช่วงสิ้นปี 2568 และโครงการ Nakwol 2 ขนาดกำลังการผลิต 375 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ในช่วงสิ้นปี 2569

นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ในประเทศไทยที่ชนะประมูลมา กำลังการผลิต 339 เมกะวัตต์ บริษัทยังมีการขยายร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงในส่วนการขยายเฟสต่าง ๆ ของนิคมฯ โดยในต่างประเทศ มีทั้งในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศมาเลเซีย, กัมพูชา และฟิลิปปินส์ กำลังมีโครงการต่อเนื่อง

นางศลยา ณ สงขลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-หัวหน้างานนักลงทุนสัมพันธ์และความยั่งยืนองค์กร BGRIM กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 4,005 เมกะวัตต์ หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะมีกำลังการผลิตรวม 5,443 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนจากพลังงานทดแทน ประมาณ 45% ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ต้องการจะเพิ่มสัดส่วนเป็นไม่ต่ำกว่า 50% ในปี 73

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งจับมือกับพันธมิตรรายเดิมหรือรายใหม่ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิต อีกทั้งมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปีก่อนสามารถลดการใช้ก๊าซฯ ต่อหน่วยลงประมาณ 2.5% ขณะที่ปริมาณการขายไฟฟ้าให้กลุ่ม IU เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ขายไฟฟ้าจากพลังงานลม เพิ่มขึ้น 6% และขายไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้น 1.3%

สำหรับประเด็นเรื่องการปรับค่าไฟฟ้ารอบใหม่ พ.ค.-ส.ค. 67

ด้าน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.67 ในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมให้สำนักงานกกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานกกพ. ตั้งแต่วันที่ 8-22 มี.ค. 2567

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็น แบ่งเป็น 4 กรณี ได้แก่ 1) กำหนดค่า Ft ที่ 1.6524 บาท/หน่วย สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน 0.1921 บาท และอีก 1.4603 บาท เป็นส่วนที่จ่ายคืน กฟผ. ตามต้นทุนคงค้างทั้งหมด ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5.44 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบัน 4.18 บาท/หน่วย

2) กำหนดค่า Ft ที่ 0.5572 บาท/หน่วย สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าฯ 0.1921 บาท และอีก 0.365 บาท เป็นส่วนที่จ่ายคืน กฟผ. โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 4.34 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 3.8% จากปัจจุบัน 4.18 บาท/หน่วย และ 3) ตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ที่ 0.3972 บาท/หน่วย สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าฯ 0.1921 บาท และอีก 0.2051 บาท เป็นส่วนที่จ่ายคืน กฟผ. โดยแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด ทำให้ค่าไฟฟ้าคงที่ 4.18 บาท/หน่วย

ขณะที่ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ มองว่า กกพ.จะเลือกกรณีที่ 3 ที่กำหนดค่าไฟฟ้าคงที่ 4.18 บาท/หน่วย โดยประเด็นบวกที่สำคัญที่สุดคือแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติลดลง โดย กกพ. คาดการณ์ว่าจะลดลงจาก 356 บาท/MMBTU ในงวด ม.ค.-เม.ย. เหลือ 322 บาท/MMBTU ลดลง 9.5% ตามราคา LNG ตลาดโลกลดลงและเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้มาร์จิ้นของโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มขึ้นทันที (ค่าไฟฟ้าคงที่แต่ต้นทุนลดลง) และจะทำให้แนวโน้มกำไรไตรมาส 1/67 และไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นบวกกับ BGRIM, GPSC, และ GULF มากที่สุด

Back to top button