“พิชัย” ห่วงศก.ไทยแย่-เงินเฟ้อติดลบ จี้ธปท.เร่งลดดอกเบี้ย
“พิชัย นริพทะพันธุ์” ชี้ไทยติดลบเงินเฟ้อ 5 เดือนต่อกัน ย้ำรัฐบาลพยายามเต็มที่แล้ว พร้อมวอนขอให้เร่งลดดอกเบี้ยนโยบายลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 มี.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงติดลบที่ -0.77% เป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สวนทางกับเงินเฟ้อในสหรัฐที่กลับเพิ่มขึ้นที่ 3.2% และ เงินเฟ้อในประเทศจีนก็กลับมาเป็นบวกแล้วที่ + 0.7% เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอีกทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังคงขยายตัวได้ดี จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐคงไม่ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นตามที่คาดการณ์กัน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกลับดูแย่ลง หลายสำนักเริ่มลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เหลือเพียง 2% กว่าเท่านั้น ซึ่งอาจจะแย่กว่านี้หากทุกหน่วยงานไม่เร่งร่วมมือช่วยกันแก้ไข
ในภาวะเศรษฐกิจที่ทำท่าจะแย่ลง และ หนี้เสียมีแนวโน้มจะมากขึ้น จึงจำเป็นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องเร่งลดดอกเบี้ยนโยบายลงและลดช่วงห่างดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากได้แล้ว เหมือนที่เลขาสภาพัฒน์ฯเสนอไว้ เพราะค่าเงินบาทยังแข็งค่าและเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ยังคงมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายควรทำควบคู่ไปกับการลดช่วงห่างระหว่างเงินกู้เงินฝาก (NIM) ที่ประเทศไทยมีช่วงห่างสูงมากถึง 6% ในขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของประชาชนได้ และส่งสัญญาณให้เห็นว่า ธปท. กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งออกให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งน่าจะตรงข้ามกับที่ ผู้ว่า ธปท. บอกว่าลดดอกเบี้ยจะไม่ช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนมามากขึ้น และ ไม่ช่วยให้ส่งปิโตรเคมีไปจีนได้มากขึ้น ซึ่งไม่น่าจะจริง ไม่ทราบท่านผู้ว่า ธปท ใช้หลักการอะไรพิจารณาถึงได้พูดแบบนั้น เพราะขนาดค่าเงินบาทไม่อ่อนเท่าไหร่นักท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 10 มีนาคม ยังเข้ามาเที่ยวไทยมากถึง 7.4 ล้านคนแล้ว
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายก่อนจะทำให้ไทยมีค่าเงินอ่อนก่อนและได้เปรียบก่อน เพราะอย่างไรสหรัฐน่าจะลดดอกเบี้ยในกลางปีนี้ค่อนข้างแน่ ถ้าลดตามสหรัฐอาจจะไม่ได้เปรียบเพราะประเทศู่แข่งจะลดตามกันหมด อีกทั้งควรเร่งการลดช่วงห่างของดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากโดยการลดดอกเบี้ย MRR, MLR และ MOR ( ดอกเบี้ย MRR คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี, ดอกเบี้ย MLR คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทมีกำหนดระยะเวลา ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี, ดอกเบี้ย MOR คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี) ซึ่งธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้ทันทีและยังสามารถประเมินความเสี่ยงใหม่ในแต่ละธุรกิจได้ด้วย และ ธปท. ควรต้องออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์เร่งดำเนินการในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ในภาพรวมที่ท่านผู้ว่า ธปท. อ้างถึง ก็อยากให้เห็นภาพรวมที่เงินเฟ้อติดลบมา 5 เดือนซ้อน เศรษฐกิจไทยขาข้างหนึ่งอยู่ในภาวะถดถอยแล้วจากจีดีพีไตรมาส 4 ปี 66 ที่ลดลงจากไตรมาส 3 ซึ่งต้องจับตาดูจีดีพีในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยหวังว่าจะไม่ต่ำกว่าจีดีพีในไตรมาส 4 โดยรัฐบาลได้พยายามเต็มที่เพื่อไม่ให้ติดลบทั้ง การส่งออกในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านคนตามที่บอกไว้ ก็หวังว่าจะช่วยจีดีพีไตรมาส 1 ให้ไม่ติดลบ แม้การใช้งบประมาณยังใช้ไม่ได้เพราะยังไม่ผ่านสภา แต่ปัญหาหนี้ ทั้งหนี้ภาครัฐ และหนี้ภาคครัวเรือน และ หนี้เสียยังคงเป็นปัญหาอย่างมาก การลดดอกเบี้ยจะช่วยได้มาก
ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงไม่ดีนัก เศรษฐกิจสหรัฐแม้จะยังดี แต่มีแนวโน้มที่จะไม่ดีนัก เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นไข้ดีจากปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจยุโรปยังคงย่ำแย่ขนาดประเทศเยอรมันที่แข็งแกร่งยังเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกับประเทศอังกฤษ และ ประเทศญี่ปุ่นก็ยังเพิ่งหลุดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยออกมาได้ ซึ่งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกประกอบกับปัญหาความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทำให้ราคาบิตคอยน์และราคาทองคำเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยผมได้แนะนำผ่านสื่อให้ลงทุนในบิตคอยน์และทองคำในกลางเดือนมกราคม ขณะนั้นราคาบิตคอยน์อยู่ที่ 40,000 ดอลล่าร์ ปัจจุบันประมาณ 2 เดือนผ่านมา ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นทะลุ 70,000 ดอลลาร์ และ ราคาทองคำได้พุ่งขึ้นทำลายสถิตินิวไฮแทบทุกวัน ทั้งนี้ในขณะที่ราคาพุ่งขึ้นสูงมากแล้ว ขอแนะนำว่าต้องใช้วิจารณญาณในการลงทุนและต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา โดยราคาทองคำน่าจะผันผวนน้อยกว่าราคาบิตคอยน์
ในความผันผวนของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงอยากเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสนับสนุนรัฐบาลให้สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจไทยให้กลับมาขยายตัวได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่กำลังลำบากกันอย่างมาก และ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง อีกทั้งสนับสนุนโครงการใหญ่ๆของรัฐบาลให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อเพิ่มโอกาสของประชาชน