ศาลแพ่งฯไฟเขียวดำเนินคดีหุ้นกู้ STARK แบบ “Class Action”
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ไฟเขียวให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในคดีทุจริตหุ้นกู้ STARK มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท ผู้เสียหายยื่นฟ้องเอาผิดผู้บริหาร 5 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 มี.ค. 67) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในคดีทุจริตหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ตามคำฟ้องของ “กลุ่มห้อง Stark ตัวจริง” ที่มีผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK กว่า 4,000 ราย มูลค่ารวมกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งได้ยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหาร STARK 5 ราย ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคาราวคุณ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี นายศรัทธา จันทรเศราฐเลิศ และนายกิตติศักด์ จิตต์ประเสริฐงาม
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อศาลฯรับให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มก็จะครอบคลุมหุ้นกู้ทุกชุด ซึ่งศาลระบุว่าเนื่องจากคดีนี้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และสามารถพิสูจน์ไว้ชัดแจ้ง จากกรณีที่จำเลยให้ข้อมูลเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหุ้นกู้หลงเชื่อจนได้รับความเสียหาย
หลังจากนี้ฝั่งจำเลยมีเวลาคัดค้านภายใน 7 วัน หากจำเลยยื่นคัดค้านก็จะต้องมีการไตรสวน แต่หากศาลฯยกคำคัดค้าน ก็จะต้องส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ ซึ่งก็จะต้องไต่สวน และหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น คดีก็ถือเป็นอันสิ้นสุด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK หรือ “กลุ่มห้อง STARK ตัวจริง” ยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหาร 5 รายที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้ว่ามีความผิดในคดีทุจริตใน STARK โดยขอให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งการเลือกฟ้องบุคคล 5 ราย โดยไม่ฟ้องนิติบุคคล เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องจำเลยจำนวนที่มากเกินไปจะทำให้เกิดความล่าช้า และหากนิติบุคคลยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูจะทำให้การฟ้องคดีเข้าสู่ภาวะ Automatic stay อาจต้องใช้เวลา 3 ปีถึง 15 ปีกว่าจะจบ
แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า คดีทุจริต STARK ที่สร้างความเสียหายกับผู้ลงทุนในหุ้นสามัญของ STARK นั้น ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) อยู่ในชั้นตอนกระบวนการเตรียมฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มต่อศาลเช่นกัน ซึ่งจะต้องตีกรอบคำฟ้องให้ชัดเจน โดยคดีความจะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับจากวันที่ 16 มิ.ย.66 ที่ STARK ยื่น Special Audit ทำให้พบว่าข้อมูลที่บริษัทเผยแพร่ก่อนหน้าเป็นเท็จ
ทั้งนี้ ผู้เสียหายจากหุ้นสามัญของ STARK ที่ลงทะเบียนกับ TIA มีจำนวน 1,759 ราย มูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท