ITC-AAI ปิดบวก! รับยอดส่งออกอาหารสัตว์ ก.พ. โต 22% พ่วงบาทอ่อน
ITC-AAI กอดคอปิดบวก! รับยอดส่งออกอาหารสัตว์เดือน ก.พ. โต 22% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พ่วงได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 มี.ค.67) ราคาหุ้นกลุ่มส่งออกอาหารสัตว์ปิดตลาดบวกคึก นำโดยบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ปิดตลาดที่ 19.70 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 2.60% ราคาสูงสุด 9.90 บาท ราคาต่ำสุด 19.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 131.72 ล้านบาท
ส่วนบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ราคาหุ้นปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 4.36 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 2.35% สูงสุดที่ระดับ 4.46 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.24 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 161.06 ล้านบาท
ด้านบล.เมย์แบงก์ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ภาคการผลิตโลกฟื้นตัวหนุนส่งออกไทยส่งออกไทยเดือน ก.พ. โต 3.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญฯ แม้ว่าจะต่ำกว่า Consensus คาดไว้ที่ 4.15%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ช่วง -6.0% ถึง +6.5%) อยู่เล็กน้อย แต่เด่นกว่าประเทศ ASEAN อื่นๆ (เวียดนาม -5.5%, มาเลเซีย -9.2%, อินโดนีเซีย -9.4%)
ส่วนรายกลุ่มสินค้า 1) สินค้าเกษตรโต 7.5% (ข้าวโต 53.6%, ยางพาราโต 31.7% เด่นในตลาดจีน 2) อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 9.2% (เครื่องปรุงโต 9.2%, อาหารสัตว์เลี้ยงโต 21.5%, อาหารทะเลกระป๋องแปรรูปโต 7.7%) 3) อุตสาหกรรมโต5.2% (เหล็กโต 18%, คอมพิวเตอร์โต 24.9%)
บล.เมย์แบงก์ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ITC ได้แรงหนุนจากยอดการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเดือน ก.พ.ขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ 21.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมองเป็นปัจจัยบวกต่อยอขายของ ITC ในช่วงไตรมาส 1/2567 ขณะที่ระยะสั้นได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าทำจุดสูงสดของปี่ที่ 36.40 บาท/ดอลลาร์อีกด้วย
ดังนั้นแนะนำซื้อเก็งกำไร ITC ในเชิงกลยุทธ์เรามองหุ้นมีความคาดหวังน้อยในกลุ่มธุรกิจอาหารและส่งออก จนเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งหลังปีก่อน และคาดว่างบไตรมาส 1 ที่จะต่ำสุดของปีนี้ตาม Seasonal effect แต่คาดจะแฝงไปด้วยพัฒนาการบวกทั้งด้าน Sales volume (End of destocking และยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เชื่อว่าเพิ่มขึ้น), Product margins (ราคาต้นทุน รวมถึง Utilization rates) ทำให้กำไรควรมี Surprise บวกเมื่อเทียบคาดการณ์
ด้านนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหวางประเทศของไทย เดือนก.พ.67 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 23,384 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (ตั้งแต่ส.ค. 66) แม้ต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 3.9-4.3%
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,938 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.2% ส่งผลให้ในเดือนก.พ. ไทยขาดดุลการค้า 554 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออก มีมูลค่ารวม 46,034 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 49,346 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.9% ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 3,311 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาจากภาคการผลิตโลกฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจจีนเติบโตอยู่ในระดับต่ำ และยังมีความไม่แน่นอนสูง
พร้อมประเมินว่า การส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้ จะขยายตัวได้ในระดับ 1-2% ส่วนทั้งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 1-2%
“การส่งออกของไทย ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตอบรับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นด้านการบริโภคที่กลับมา สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก ที่อยู่ในระดับขยายตัวต่อเนื่อง…สำหรับวิกฤตการณ์ในทะเลแดง ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อการส่งออกของไทย” นายกีรติ กล่าว
หากพิจารณาการส่งออกในรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ดังนี้
– กลุ่มสินค้าเกษตร ในเดือนก.พ.67 ขยายตัว 7.5% ที่มูลค่า 2,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ กาแฟ, ข้าว และยางพารา
– กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนก.พ.67 หดตัว 9.2% ที่มูลค่า 1,842 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป
– กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนก.พ.67 ขยายตัว 5.2% ที่มูลค่า 18,748 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก-เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ อัญมณีและเครื่องประดับ
สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 นั้น ภาคเอกชนยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อาจยังมีข้อกังวลต่อปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหากความขัดแย้งไม่ขยายวงหรือลุกลาม ก็เชื่อว่ามูลค่าการส่งออกไตรมาส 2 จะอยู่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่ประมาณ 71,500-72,500 ล้านเหรียญสหรัฐ