“เศรษฐา” ย้ำจำเป็นเดินหน้า “ดิจิทัลวอลเล็ต” กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายกฯ ย้ำความจำเป็นเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ต้องกระตุ้นเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น กำชับดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ประชาชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป  โดยระบว่า นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่าเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลายาวนาน รวมถึงต้องเผชิญกับ Headwind ทั้งภายในและภายนอก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังโควิด-19 และภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงตลอดมา เป็นต้น ดังนั้น การดำเนินมาตรการเพื่อสร้าง Momentum และกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้น ที่จะเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น ผ่านประชาชนผู้ได้รับสิทธิและผู้ประกอบการร้านค้า  ดังนั้น การดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน  ย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

นายกฯ ย้ำว่าจากที่กล่าวมา โครงการ Digital Wallet จึงควรถูกขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับทราบว่า คณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว  และอยู่ระหว่างรอหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งก็ขอให้การดำเนินโครงการนี้เป็นไปโดยคำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยวันนี้จึงเห็นว่า ที่ประชุมควรมีการพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการฯ  และมอบหมายให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวัง หรือความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับมา

พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ  และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญ การใช้อำนาจต่าง ๆ ในการดำเนินการโครงการ Digital Wallet นี้จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต  รอบคอบ และระมัดระวัง  เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม  ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมนายกฯ ยังได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมฯได้รับทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหาและมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการเติบโตต่ำของ GDP ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูงกว่าประเทศไทย

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการ Digital Wallet นอกเหนือจากการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณไปดำเนินการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้า และมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล (คณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) สรุปการพัฒนาระบบและการจัดทำในลักษณะเปิด หรือ Open loop เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนั้น นายกฯ ยืนยันถึงกรอบเวลาตามที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลง โดยในไตรมาส 3 จะทำการลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน และไตรมาส 4 เงินจะถึงมือประชาชน ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ทุกภาคส่วนเห็นด้วย ต่างเห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้.

Back to top button