3 หุ้นโรงแรมร่วง! หวั่นต้นทุนพุ่ง หลังรัฐอัพค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน

3 หุ้นโรงแรมราคาร่วง! SHR นำทีมรูด 2% กังวลต้นทุนเพิ่มหากรัฐปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาที่ 400 บาทต่อวัน นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว มีผล 13 เม.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 มี.ค. 67) ณ เวลา 15:15 น. ราคาหุ้นกลุ่มโรงแรมปรับตัวลงมาหลังภาครัฐมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาที่ 400 บาทต่อวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในหุ้นกลุ่มโรงแรม นำโดย บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ราคาอยู่ที่ระดับ 2.66 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 2.21% สูงสุดที่ระดับ 2.72 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.64 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 13.75 ล้านบาท

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ราคาอยู่ที่ระดับ 4.08 บาท ลบ 0.04 บาท หรือ 0.97% สูงสุดที่ระดับ 4.16 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.04 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 172.18 ล้านบาท

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ราคาอยู่ที่ระดับ 43.00 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.58% สูงสุดที่ระดับ 43.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 43.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 23.42 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมานั้น ตอบรับกระแสข่าวคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 (ไตรภาคี) ซึ่งมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการฯ พิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2567 และมีการปรับสูตรการพิจารณาใหม่ ที่อิงกับ ภาวะเงินเฟ้อ ประเภทการทำงาน ทักษะฝีมือแรงงาน ที่สำคัญคือไม่ได้ปรับทั้งประเทศ

โดยการพิจารณาครั้งนี้มีเพียง 10 จังหวัดนำร่อง และปรับในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, สงขลา, พังงา, ประจวบคีรีขันธ์, ชลบุรี, พัทยา และ ระยอง  ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง และจังหวัดอุตสาหกรรม โดยยังปรับแบบเจาะจงเฉพาะพื้นที่ หรือบางอำเภอของจังหวัดนั้นๆ ด้วย

โดยประชุมไตรภาคี มีมติเอกฉันท์ ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 10 จังหวัดนำร่อง และขึ้นในบางพื้นที่นำร่องกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ในอัตรา 400 บาทเท่ากัน มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 67 โดยจากนี้จะนำเสนอ ครม. ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ และจะรายงานให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ทราบต่อไป

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาที่ 400 บาทต่อวัน ตามข้อเสนอและเงื่อนไขที่กำหนดของคณะกรรมการค่าจ้าง แม้จะมีผลไม่มากต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรม เนื่องจากจำนวนโรงแรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีไม่ถึง 5% ของโรงแรมจดทะเบียนทั่วประเทศ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนของผู้ประกอบการจะปรับสูงขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของแรงงานที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันในสัดส่วนสูง และอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวไม่สูง ธุรกิจขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยว และราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนไม่สูง

ทั้งนี้ คงต้องติดตามมติคณะรัฐมนตรีต่อข้อสรุปประเด็นนี้ รวมถึงภาครัฐจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากหรือไม่

ขณะเดียวกัน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเฉพาะกิจการโรงแรมในพื้นที่ที่กำหนด และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.67 แม้น่าจะกระทบต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรมไม่มาก เนื่องจากเป็นการปรับเฉพาะในพื้นที่ที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด เฉพาะกลุ่มโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป และจ้างงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยต้องติดตามความชัดเจนเรื่องนิยามของกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปอีกครั้ง

โดยหลังจากการรวบรวมข้อมูลโรงแรมในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว พบว่าโรงแรมกลุ่ม 4 ดาวขึ้นไป (นิยามการให้บริการแบบ 4 ดาวและแบรนด์เซ็กเม้นต์) มีประมาณ 770 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของโรงแรมและที่พักทั่วประเทศ ซึ่งโรงแรมกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม มีปริมาณนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวสูงอย่างภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา (ชลบุรี) และสมุย (สุราษฎร์ธานี)

ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยจำนวนแรงงานยังไม่กลับเข้ามาในระบบอย่างเต็มที่หลังถูกกระทบจากวิกฤติโควิด โดยเฉพาะโรงแรมในภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและบางพื้นที่มีจำนวนมากกว่าปี 62 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจ้างแรงงานสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว สะท้อนจากผลสำรวจค่าจ้างแรงงานรายวันในธุรกิจโรงแรมที่มีการประกาศรับสมัครตามสื่อออนไลน์ พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมีสัดส่วนของแรงงานที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันเท่าใด รวมถึงอยู่ในพื้นที่ใด เพราะแต่ละพื้นที่จะมีสถานการณ์ของจำนวนนักท่องเที่ยวและฤดูกาลท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกัน

โดยกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากโรงแรมกลุ่มนี้มีสัดส่วนการจ้างแรงงานรายวันไม่สูง จากการจ้างแรงงานที่มีทักษะในการให้บริการ ทำให้มีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจสูงกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว นอกจากนี้ โรงแรมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะและปริมาณนักท่องเที่ยวมาก ค่าบริการห้องพักต่อคืนสูง ทำให้มีมาร์จิ้นและความยืดหยุ่นในการทำตลาดค่อนข้างสูง

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมระดับ 4 ดาว จะได้รับผลกระทบที่มากกว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนมาก ต้นทุนและการแข่งขันสูง ขณะที่ราคาห้องพักต่อคืนไม่ได้อยู่ในระดับพรีเมี่ยม

ด้านกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบปานกลาง อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา (ชลบุรี) จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง แต่เนื่องจากรายได้ธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวสูงและขึ้นกับฤดูกาลท่องเที่ยวต่ำ ทำให้ธุรกิจน่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนส่วนเพิ่มนี้ได้ โดยกำหนดให้ต้นทุนอื่นๆ คงที่

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น ในพื้นที่สงขลา เป็นต้น จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูง โดยเฉพาะหากเป็นโรงแรมที่มีสัดส่วนแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันสูง ขณะเดียวกัน ปริมาณนักท่องเที่ยวไม่สูงเมื่อเทียบกับจังหวัดท่องเที่ยวหลัก การเดินทางขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยว จำนวนวันพักเฉลี่ยต่ำ และราคาเฉลี่ยที่พักต่อคืนไม่สูง (ประมาณ 3,000 บาทต่อคืน และอาจต่ำกว่าในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว) ทำให้ธุรกิจจะมีมาร์จิ้นและความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่ำ

ดังนั้น คงต้องติดตามมติคณะรัฐมนตรีว่าจะได้ข้อสรุปต่อประเด็นนี้อย่างไร รวมถึงภาครัฐจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากหรือไม่ เนื่องจากหากบังคับใช้วันที่ 13 เม.ย.นี้ ผู้ประกอบการก็จะเหลือเวลาในการเตรียมตัวด้านสภาพคล่องอีกไม่มากแล้ว

Back to top button