วิปรัฐขู่ลดเวลาซักฟอกฝ่ายค้าน หลังถูกเล่นเกมการเมือง

รองประธานวิปรัฐบาล เตรียมจัดสรรเวลาอภิปรายใหม่ ลดเวลาฝ่ายค้าน ย้ำไม่มีทางได้ 22 ชั่วโมง ไม่ห่วงทักษิณโดนพาดพิง เชื่อประธานสภาฯคุมเกมได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(1 เม.ย. 67) รัฐบาลเตรียมเสนอให้มีการจัดสรรเวลาในการอภิปรายญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.นี้ใหม่ จากเดิมที่คณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจะจัดสรรเวลาให้ฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 4-5 ชั่วโมง และประธานสภาฯ 2 ชั่วโมง

“สิ่งที่เกิดขึ้นจากการตกลงของวิปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องมาจัดเวลาใหม่ การอภิปรายในมาตรา 152 ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้าน รัฐบาลก็สามารถอภิปรายได้ แต่เราให้เกียรติกันเพราะฝ่ายค้านเป็นผู้ยื่น เราจึงให้เวลาเขาไปเต็มที่ แต่สิ่งที่เขาทำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงว่าเขาไม่ได้เคารพการพูดคุยของวิปเลย ฉะนั้นช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้เรียกวิปฝ่ายค้านและรัฐบาลมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อพูดคุยเรื่องกรอบเวลาว่าเราจะเอาจำนวน สส.หารเลย ผมได้พูดคุยในวิปรัฐบาลแล้วว่าหากฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองกันเช่นนี้ เราก็ต้องคุยกันใหม่ ไม่มีทางที่คุณจะได้ 22 ชั่วโมงแล้วแน่นอน” นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค พท.ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือญัตติอภิปรายทั่วไปนั้น พรรคเพื่อไทยไม่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์ใครทั้งสิ้น แต่ฝ่ายค้านต้องอภิปรายให้อยู่ในกรอบการสอบถามหรือแนะนำการทำงานของรัฐบาล ไม่ใช่การตีกินทางการเมืองหรือหลอกด่าฟรี ซึ่งพวกตนจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นให้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเลย

ส่วนกรณีที่อาจมีการอภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค นั้น เนื่องจากทั้งสองคนเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมที่จะมาชี้แจงได้ การกล่าวถึงบุคคลภายนอกที่ไม่จำเป็นก็เป็นดุลพินิจของประธานในที่ประชุมว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อควบคุมการประชุม โดยข้อมูลเกี่ยวกับนายทักษิณไม่มีอะไรแปลกใหม่ เป็นข้อมูลที่พวกเรารู้กันตามหน้าสื่อมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางกลับมา การรับโทษ อาการป่วย แต่หากจะมีการโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ เราคงยอมไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาล

หากมีการอภิปรายพาดพิงก็จะมีการชี้แจงตามข้อบังคับข้อ 9 คือประท้วงให้ประธานในที่ประชุมควบคุมการประชุม และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 คือการซักถามข้อเท็จจริงกับ ครม. รวมถึงข้อ 69 หากมีการพูดจาเสียดสีหรือเอ่ยถึงบุคคลภายนอกโดยไม่จำเป็นก็ประท้วงได้ ทั้งนี้  เพื่อไทยไม่ได้กำหนดตัวบุคคลว่าใครจะเป็นคนประท้วง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ สส. หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้ประท้วง แต่หากมีการอภิปรายนอกประเด็นพวกเราก็ยอมไม่ได้ อีกอย่างคือเรื่องของกรอบเวลา.

Back to top button