BTS บวกต่อ 3% โบรกแนะซื้อเป้า 8.50 บ. เงินสดแกร่ง D/E ลดฮวบ หลังรับเช็ค 2.3 หมื่นล้าน

BTS บวกต่อ 3% โบรกแนะซื้อเป้า 8.50 บาท เงินสดแกร่ง-D/E ลดฮวบ หลังกทม.จ่ายหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) 2.3 หมื่นล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ฟากผู้บริหารมั่นใจผลประกอบการ เม.ย. 67-มี.ค. 68 เติบโตต่อเนื่อง ลุ้นศาลฯ ตัดสินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสีเขียวส่วนต่อขยายเร็ว ๆ นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 เม.ย.67) ราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ณ เวลา 15:48 น. อยู่ที่ระดับ 5.85 บาท บวกไป 0.15 บาท หรือเพิ่มไป 2.63% สูงสุดที่ระดับ 5.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 339.79 ล้านบาท

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา BTS ได้รับเงินจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว เพื่อชำระหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 23,488.69  ล้านบาท

สำหรับแผนการใช้เงินดังกล่าวส่วนใหญ่จะนำไปชำระหนี้ทั้งจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ และจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของ BTS ดีขึ้นอย่างมาก ส่งให้ BTS มีเครดิตดีขึ้นหากต้องมีการกู้ยืมเพื่อลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต รวมทั้งมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น ประเมินว่าผลประกอบการปี 2567/68 (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน BTS ยังอยู่ระหว่างรอการตัดสินคดีที่ฟ้องร้องให้ กทม. ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับ อ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นเงินประมาณ 11,755 ล้านบาท และการฟ้องร้องครั้งที่ 2 มีวงเงิน 11,068.50  ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานจากนี้ และน่าจะมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากคดีแรกศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินให้ BTS ชนะไปแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ส่วนปัญหาโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนนั้น ยอมรับว่าอาจกระทบต่อการประเมินตัวชี้วัด (KPI) ตามสัญญาสัมปทาน และการรับชำระเงินอุดหนุนจากฝ่ายรัฐ แต่เชื่อว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปี ทาง BTS และพันธมิตรผู้รับงานสัมปทานทั้ง 2 สายทาง ในนามบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) รับงานสายสีเหลือง และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) รับงานสายสีชมพู จะสามารถบริหารการทำงานให้ได้ตาม KPI ที่กำหนด

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เกิดเหตุชิ้นส่วนอุปกรณ์ตัวจ่ายไฟถูกกระแทกหลุดออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้ยังไม่สามารถให้บริการได้ตามปกตินั้น เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าแผ่นเหล็กที่ติดตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของทางวิ่ง ได้มีการเลื่อนออกจากตำแหน่ง เมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ผ่าน ทำให้แผ่นเหล็กดังกล่าวเคลื่อนตัวไปกระแทกรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกจากตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเกิดจากตัวน็อตที่ยึดแผ่นเหล็กบริเวณรอยต่อของทางวิ่งบกพร่อง

ทั้งนี้ทาง EBM จึงได้เสนอต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปว่า แผนเฉพาะหน้าขณะนี้คือการตรวจน็อตทุกตัวอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการที่เหลืออยู่ ส่วนในระยะถัดไปคือการเปลี่ยนน็อตใหม่ทุกตัว ซึ่งต้องใช้เวลาจัดหาและนำเข้ามาซ่อมแซมประมาณ 2 เดือน แต่ EBM ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เนื่องจากยังอยู่ในระยะประกันภัย

สำหรับจำนวนผู้ใช้บริการปัจจุบันของสายสีชมพูอยู่ที่ 50,000-70,000 คนต่อวัน ส่วนสายสีเหลืองก่อนเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด มีผู้โดยสารประมาณ 40,000 คนต่อวัน แต่หลังเกิดเหตุอยู่ที่ 30,000 คนต่อวัน เนื่องจากต้องรอเปลี่ยนขบวนรถนาน จึงอาจทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกเช่นเดิม โดยจำนวนผู้โดยสารทั้ง 2 สายทางยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยสายทางละ 100,000 คนต่อวัน ซึ่งทาง EBM และ NBM จะเร่งทำการตลาดเพื่อจูงใจผู้ใช้บริการให้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว

ด้านกรุงเทพมหานครได้ชำระหนี้ให้กับ บีทีเอส แล้ว จำนวน 23,091,937,361 บาท เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 โดยผู้บริหารบีทีเอส ได้กล่าวขอบคุณ กทม. โดยเฉพาะนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. เชื่อว่าการได้รับเงินก้อนดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัทซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงาน และที่สำคัญ คือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในการใช้บริการต่อไป

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยมีมูลหนี้ ดังนี้ ส่วนที่ 1 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับ BTSC จำนวน 11,755.06 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 2. หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

ส่วนที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามที่ BTS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ่ายหนี้เพิ่มอีกประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด มองว่ากรณี BTS ได้รับการชำระหนี้ด้านไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จากสีเขียวส่วนต่อขยาย จากกรุงเทพมหานครมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นผลบวกต่อ BTS แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจลดอำนาจการต่อรองของบริษัทในการเจรจาสัมปทานค่าโดยสารเส้นทางหลักสายสีเขียวที่จะหมดอายุในปี 2572 โดยเชื่อว่ากระแสเงินสดเข้าจะช่วยให้นักลงทุนคลายกังวล D/E ของ BTS ที่สูงถึง 1.63 เท่า

ขณะที่ BTS เริ่มแก้ไขข้อกังวลของนักลงทุนและเตรียมพร้อมสำหรับโมเมนตัมกำไรที่แข็งแกร่งขึ้นในปีงบประมาณ 2568 เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารของกลุ่มสีชมพู และสีเหลืองเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งกำไรของ VGI ดีขึ้นหลังจากถอนการลงทุนในหน่วยที่ขาดทุนอย่าง Kerry Express

นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารของเส้นทางสายสีเขียวหลักยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของปริมาณนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารสายสีเหลืองและชมพู จะสูงถึง 200,000 ราย เนื่องจากทั้งสองสายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 130,000-150,000 รายต่อวันภายในปี 2572  โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 8.50 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การที่ BTS ได้รับชำระหนี้ค่างาน E&M จาก กทม.แล้วนั้น จะช่วยหนุนกระแสเงินสดแก่บริษัทเป็นอย่างมาก ซึ่งทางผู้บริหาร BTS เคยให้ข้อมูลว่า เงินที่ได้รับมาส่วนใหญ่จะนำไปชำระหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ D/E ดีขึ้น และบางส่วนจะเตรียมไว้สำหรับการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ยังมีคดีงาน O&M อีก 2 คดีในชั้นศาลปกครอง ซึ่งประเมินว่าจะมีแนวโน้มที่ดีต่อ BTS เช่นกัน เพราะศาลปกครองชั้นต้นตัดสินให้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่ BTS แล้ว

นอกจากนี้ การที่ BTS ขายหุ้นบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ออกไปบางส่วนที่ 2.76% และเหลือถือไว้ 2.96% แม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่ก็จะทำให้ผลประกอบการของ BTS ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมจาก KEX  และไม่ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก KEX เป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานปกติปี 2567/68 ของ BTS จะดีขึ้นแน่นอน แต่ผลการดำเนินงานภาพรวมนั้น ยังประเมินไม่ได้ว่าจะเติบโตหรือไม่ หรือหากเติบโตก็อาจอยู่ในระดับไม่มาก เช่น รายได้รวมอาจเติบโตตามอัตราปกติที่ 3-5% ต่อปี

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาหนุนผลประกอบการ BTS แบบชัดเจน โดยยังคงมีแต่ปัจจัยเดิมอยู่ คือ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ซึ่งเชื่อว่าการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งอาจกระทบต่อสัญญาสัมปทาน และความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร และจะทำให้ระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนต้องรอนานออกไปอีก โดยในปี 2567/68 BTS จะขาดทุนจากทั้ง 2 สายทางนี้มากขึ้น รวมทั้งกรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้มีการจัดตั้งกาสิโนที่ถูกกฎหมายในไทยนั้น มองว่า เป็นโอกาสของเอกชนที่จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามา แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเป็นผลบวกต่อผู้รับงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA, BTS และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) หรือไม่ อย่างไร เพราะต้องรอดูก่อนว่ารัฐบาลจะมีเงื่อนไขการลงทุนอย่างไร และขณะนี้โครงการเมืองการบินฯ ก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นได้ อีกทั้งที่ผ่านมาผู้บริหาร BTS ยังไม่เคยเปิดเผยว่าแสดงความสนใจลงทุนกาสิโน

Back to top button