ไทยเนื้อหอม! ไตรมาสแรกปี 67 ต่างชาติขนเงินลงทุน 3.5 หมื่นล้าน
พาณิชย์ โชว์ ไตรมาสแรกปี 67 ต่างชาติลงทุนในไทย 35,902 ล้านบาท พบ ญี่ปุ่นมากสุด 19,006 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ไตรมาสแรกปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 178 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 53 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 125 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 35,902 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 40 ราย คิดเป็น 22% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,006 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอุปกรณ์ใยแก้วนำแสง/ชิ้นส่วนรถยนต์/ชิ้นส่วนโลหะ) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
2.สิงคโปร์ 32 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,294 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการให้ใช้ระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการทางบัญชี/บริการวางแผนการตลาดและส่งเสริมการขายสินค้า/บริการรับค้ำประกันหนี้)ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์และอุปกรณ์จับยึด/ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ)
3.สหรัฐอเมริกา 29 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 1,048 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจนายหน้าและตัวแทนในการจัดซื้อ จัดหา และจัดจำหน่ายสินค้า (เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์/เครื่องประดับ) ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป/เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม) ธุรกิจบริการติดต่อประสานงาน บริหารจัดการ ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/DRUM BRAKE ASSEMBLY)
4.จีน 20 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 2,886 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม/สารแต่งกลิ่นและรสชาติ) ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม
5.ฮ่องกง 11 ราย คิดเป็น 6% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,017 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป) ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์/ ชิ้นส่วนประกอบที่ทำจากอลูมิเนียม) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการด้านการจัดการร้านอาหารและคาเฟ่
จึงถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มกราคม – มีนาคม 2566) พบว่า อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จำนวน 4 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 2% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 อนุญาต 178 ราย / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 อนุญาต 174 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,854 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ลงทุน 35,902 ล้านบาท / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ลงทุน 33,048 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,083 ราย หรือ ลดลง 56% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 จ้างงาน 849 คน / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 จ้างงาน 1,932 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ไตรมาสแรกของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 56 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 25 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 81% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ลงทุน 56 ราย / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ลงทุน 31 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 11,629 ล้านบาท คิดเป็น 32% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8,365 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 256% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เงินลงทุน 11,629 ล้านบาท / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 เงินลงทุน 3,264 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจากประเทศ *ญี่ปุ่น 12 ราย ลงทุน 995 ล้านบาท *จีน 12 ราย ลงทุน 924 ล้านบาท *สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 898 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 24 ราย ลงทุน 8,812 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำน้ำเย็น และระบบปรับอากาศ เป็นต้น ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปทางด้านภาพ เสียงระบบนำร่อง และชิ้นส่วน/แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป/อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น.