ADVANC วิ่ง 5% ขานรับกำไร Q1 โต 25% เป้าคอนเซนซัส 255 บาท
ADVANC วิ่ง 5% รับกำไรไตรมาส 1/67 โตสูงกว่าคาด แตะ 8.4 พันล้านบาท โบรกให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 255 บาท อัพไซด์เกือบ 30%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 พ.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ล่าสุด ณ เวลา 10:17 น. อยู่ที่ระดับ 208 บาท บวก 10.50 บาท หรือ 5.32% สูงสุดที่ระดับ 208 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 205 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.28 พันล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง ตอบรับบริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ออกมาดีกว่าตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ LSEG consensus ที่ให้กำไรสุทธิไว้ 7,118 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขจริงออกมา 8,451 ล้านบาท ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 255.06 บาท จาก 16 โบรกเกอร์ ด้านราคาหุ้น ADVANC เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.25% ปิดที่ระดับ 197.50 บาท หรือมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายกว่า 29%
ด้าน นายมนตรี คงเครือพันธุ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ADVANC ผู้ให้บริการ AIS เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงาน แม้จะมีผลกระทบจากต้นทุนการเงิน และจากอัตราแลกเปลี่ยน
โดยไตรมาส 1/2567 EBITDA อยู่ที่ 27,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้การให้บริการหลัก และผลกระทบเชิงบวกจากการรวมกับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB (3BB) ส่วน EBITDA margin อยู่ที่ 52.1% เปรียบเทียบกับ 48.3% ในไตรมาส 1/2566 และ 46.7% ในไตรมาส 4/2566 จากการเติบโตของรายได้ที่สร้างผลกำไรการปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรของยอดขายอุปกรณ์ และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยหนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประกอบกับการมุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพทั้งโครงข่ายมือถือ AIS 5G และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบ้าน โดย AIS 3BB FIBRE3 บริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้างบลงทุนในปีนี้ 25,000-26,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทั้งโครงข่าย 5G และอินเทอร์เน็ตบ้านให้มีความแข็งแกร่งรองรับการเติบโตของผู้บริโภคและอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน รายได้อยู่ที่ 53,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน ได้รับผลดีจากการรับรู้รายได้ของ TTTBB การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการขยายตัวของฐานผู้ใช้งานและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนรายได้รวมเติบโตขึ้น 3.8% จากผลการรับรู้รายได้ของ TTTBB เข้ามาเต็มไตรมาส และการขยายตัวของรายได้การให้บริการหลัก ชดเชยกับรายได้การขายอุปกรณ์ที่ลดลงเล็กน้อย
สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 45 ล้านเลขหมาย เติบโตขึ้น 408,400 เลขหมาย ได้รับอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นคุณภาพและการนำเสนอบริการที่หลากหลาย ในขณะที่ผู้ใช้งาน 5G ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 ล้านเลขหมาย เติบโตขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมมุ่งขยายการใช้งานโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ที่ขณะนี้มีความครอบคลุมแล้วมากกว่า 90% ของประชากร
ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้ AIS 3BB FIBRE3 อยู่ที่ 4.8 ล้านราย (ลูกค้า 3BB 2.3 ล้านราย) เติบโตขึ้น 72,700 ราย โดยสามารถทำรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้ของ 3BB FIBRE3 ที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และการนำเสนอสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมบรอดแบนด์ไฟเบอร์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของทุกคนในบ้าน และธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ด้วยเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจและ SME ไทยให้เติบโต อุ่นใจไปด้วยกัน จากความสามารถของโครงข่าย 5G และศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมาเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ ประกอบกับการรับรู้รายได้การให้บริการลูกค้าองค์กรของ 3BB ทำให้ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรสามารถสร้างการเติบโตได้ 20%
โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย.67 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ขอให้มีคำพิพากษาให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพิกถอนประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับที่ 2 (ประกาศมาตรการคุ้มครอง ฉบับที่ 2) ในส่วนของการกำหนดให้ต้องนำส่งเงินรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าอัตราตามสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการให้บริการลูกค้าต่อไปเป็นการชั่วคราวภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (ซึ่งในกรณีของบริษัทได้สิ้นสุดสัมปทานตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2558) และให้เร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการตามแผนงาน รวมถึงมีหน้าที่ส่งเงินรายได้ขั้นต่ำซึ่งในขณะนั้นเป็นอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของเงินรายได้จากการให้บริการ
โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ให้เพิกถอนประกาศมาตรการคุ้มครอง ฉบับที่ 2 ในส่วนที่กำหนดให้ส่งเงินรายได้ขั้นต่ำดังกล่าว ตามที่บริษัทฟ้องขอเพิกถอน และต่อมากสทช.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด
สำหรับบริษัทแจ้งว่าวันที่ 25 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศมาตรการคุ้มครอง ฉบับที่ 2 ในส่วนที่กำหนดให้ส่งเงินรายได้ขั้นต่ำดังกล่าวในคดีอื่นแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่งผลให้บริษัทไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่ต้องดำเนินการตามประกาศดังกล่าวในส่วนที่ได้เพิกถอนไปแล้วอีก มีผลให้คดีถึงที่สุด