วิเคราะห์เกมการเมือง “40 สว.” สอย “เศรษฐา-พิชิต” ตกเก้าอี้?
ไม่รู้ว่าในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจรดปากกาเซ็นต์คำสั่งแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1 ได้ดูฤกษ์พานาที เพราะดูเหมือนว่าจะมีเรื่องให้ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าแทบไม่เว้นวัน
เริ่มตั้งแต่การประกาศลาออกแบบสายฟ้าผ่าของ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีต รมว.การต่างประเทศ ทันทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รวมถึงกรณีที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตรมช.คลัง ได้ยื่นหนังสือลาออกไปด้วยเหตุผลส่วนตัว ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่ลงรอยกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคนใหม่
แต่ล่าสุดต้องบอกว่าสิ่งที่นายกฯเศรษฐากำลังจะเจอ อาจเป็นด่านหินอีกที่เกิดขึ้นกับการปรับคณะรัฐมนตรีรอบนี้มากกว่าทุกๆครั้ง เพราะคราวนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.จำนวน 40 คน เข้าชื่อร่วมกัน ถอดถอนนายเศรษฐาออกจากตำแหน่ง แถมยังพ่วงด้วย นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง ที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่หลายฝ่ายยังคงกังขา
คำร้องดังกล่าวได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของนายพิชิต หลังพบมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ จากประเด็น คดีถุงขนม 2 ล้านบาท ผ่าน ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2567 ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ได้ขอให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
โดยสาระสำคัญสรุปว่า นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (4) และ(5) ที่บัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงน่าติดตามว่าผลจากการร้องของบรรดาสว.นั้นจะจบลงอย่างไร ซึ่งในท้ายคำร้องนั้นได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลง พร้อมกันนี้ขอศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของ สว. 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งคำวินิจฉัยนั้นอาจจะเป็นได้หลากหลายแนวทางที่ย่อมที่มีผลต่อการทำหน้าที่ของ นายเศรษฐา และนายพิชิต อย่างแน่นอน
หากวิเคราะห์และคาดการณ์ ความเป็นไปได้ในคดีนี้ ได้แก่ 1. ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับคำร้อง และไม่ได้สั่งให้ทั้ง 2 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด หรือ 2. สั่งให้ทั้ง 2 คน หยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้นายเศรษฐา และนายพิชิต อาจจะถูกพักงานโดยทันที คล้ายกับสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอาจจะต้องหาคนมารักษาราชการในตำแหน่งแทน เพื่อให้งานราชการแผ่นดินเดินหน้าต่อไป และอย่างสุดท้ายคือ ข้อที่ 3. ให้คนใดคนหนึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในคดีนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่งในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จนทำให้มีข่าวลือหนาหูว่า นายพิชิต อาจจะชิงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้อง เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกฟ้องร้อง และชิงจังหวะลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้วินิจฉัย
ซึ่งคาดการณ์กันว่าการลาออกของนายพิชิต อาจจะมาจากการเก็งข้อสอบก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการตัดไฟปัญหาแต่ต้นลม เพื่อรักษานายกรัฐมนตรี โดยเทียบเคียงกับก่อนหน้านี้จากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องวินิจฉัยสมาชิกภาพ นายนครชัย ขุนณรงค์ อดีต สส.ระยอง พรรคก้าวไกล เนื่องจากลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่เข้าเกณฑ์รับเรื่องไว้วินิจฉัยได้ และศาลรัฐธรรมนูญ สั่งจำหน่ายคดี งดการวินิจฉัยคดี และ งดนัดฟังคำวินิจฉัย กรณีกล่าวหา นายนิพนธ์ บุญญามณี หลังจากลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีเคยถูกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการแก้เกมการเมืองที่หวังจะให้เรื่องคำร้องเหล่านี้ยุติไป เพื่อทำให้รัฐนาวาของนายเศรษฐา ทวีสิน เดินต่อไปได้ เพราะต้องยอมรับว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งได้หักปากกาเซียนด้านกฎหมายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน.