JPARK บวก 4% นิวไฮรอบ 3 เดือน เก็ง Q2 โตแรง! จ่อปิดจ๊อบใหม่เดือนนี้

JPARK บวก 4% นิวไฮรอบ 3 เดือน ส่งซิกผลงานไตรมาส 2/67 เติบโตสูง รับรายได้ธุรกิจหลักขยายตัว เดินหน้าขยายช่องจอดรถในพื้นที่โรงพยาบาล สนามบิน อาคารสำนักงาน และพื้นที่สาธารณะ จ่อปิดเพิ่ม 1 ดีล มิ.ย.นี้ ขณะที่ไตรมาส 3/67 รายได้พุ่ง บุ๊กเปิดบริการอาคารจอดรถ “รพ.พระนั่งเกล้า” 532 คัน ปลาย ก.ค. 67


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (14 มิ.ย.67) ราคาหุ้น บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK ณ เวลา 11:13 น. อยู่ที่ระดับ 7.20 บาท บวก 0.25 บาท หรือ 3.60% สูงสุดที่ระดับ 7.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 31.25 ล้านบาท ราคาหุ้นแรงในรอบ 3 เดือน โดยเทียบตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 7.70 บาท เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67

โดยก่อนหน้านี้นายสุดวิณ ปัญญาวงศ์ขันติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชี  JPARK เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 เติบโตในระดับสูง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 ที่มีรายได้รวม 152.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 24.76 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ธุรกิจหลักขยายตัว ทั้งธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (PS), ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (PMS) และธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (CIPS)

ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2567 บริษัทสามารถขยายช่องจอดรถเพิ่มขึ้น 30% ของเป้าหมายทั้งปี 2567 และในไตรมาส 2/2567 ยังคงมีการเข้าประมูล และเจรจาขยายพื้นที่ เพื่อเพิ่มช่องจอดรถอยู่หลายดีล ซึ่งดีลส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบกลยุทธ์ ทั้งโรงพยาบาล สนามบิน อาคารสำนักงาน และพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีการรวมตัวของประชาชน คาดว่าจะมีการปิดดีลเพิ่มอย่างน้อย 1 ราย ภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้

ขณะที่ในไตรมาส 3/2567 รายได้ของบริษัทจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากปลายเดือนกรกฎาคม 2567 หรือช้าสุดต้นเดือนสิงหาคม 2567 จะเริ่มให้บริการพื้นที่อาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ขนาด 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน พร้อมพื้นที่พาณิชย์ประมาณ 2,000 ตารางเมตร (ตร.ม.)

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2567 บริษัทเตรียมวางศิลาฤกษ์ เพื่อเริ่มพัฒนาและบริหารอาคารจอดรถ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 1,014 ช่องจอด และพื้นที่พาณิชย์ประมาณ 4,000 ตารางเมตร คาดว่าจะพร้อมเปิดใช้งานในช่วงไตรมาส 4/2568

นายสุดวิณ กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มช่องจอดรถให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในปี 2567 มั่นใจว่าจะสามารถขยายพื้นที่จอดรถแตะระดับ 40,000 ช่องจอด เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีพื้นที่จอดรถ 29,562 ช่องจอด โดยบริษัทยังคงเป้าหมายมีรายได้รวมปี 2567 เติบโต 30-40% จากปี 2566 ที่มีรายได้รวม 573.06 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจหลักที่ขยายตัว และจะทยอยปรับขึ้นราคาค่าจอดรถในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งในปี 2567 จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายล้านบาท และไม่มีบันทึกจากการคิดค่าเสื่อมราคาใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอีก 20 กว่าล้านบาท เหมือนกับปี 2566 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสะท้อนมายังผลกำไรในปี 2567

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานในปี 2567 จะออกมาใกล้เคียงกับที่บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ประเมินไว้ว่า JPARK จะมีรายได้รวมประมาณ 700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 100 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK ได้มีการทำรายการขายหุ้นออกมาในสัดส่วน 3.156% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ และมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการขายหุ้นอยู่ที่ 67.7328% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น เป็นการขายหุ้นให้กับกองทุนแห่งหนึ่ง ที่ได้มองเห็นศักยภาพ โอกาสเติบโต และผลตอบแทนที่ดีของ JPARK ในอนาคต ทำให้ปัจจุบันกองทุนถือหุ้น JPARK ในสัดส่วนรวมประมาณ 4-5%

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 7.20 บาท/หุ้น (รวมโครงการอาคารจอดรถพระนั่งเกล้าและศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก) และยังเชื่อว่าบริษัทมีศักยภาพในการเติบโตจากความต้องการที่จอดรถที่บนทำเลการจราจรหนาแน่นยังมีอยู่มากตามสถานศึกษา โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ขณะที่ประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 น่าจะดีใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2567 แม้มีรายได้เพิ่มจากโครงการพื้นที่จอดรถตลาดบางกอกน้อยที่เริ่มเปิดให้บริการในไตรมาส 2/2567 และรับรู้รายได้จากโครงการที่จอดรถสนามบินขอนแก่น และ One Bangkok เต็มไตรมาส

อย่างไรก็ตามรายได้จากโครงการติดตั้งระบบที่จอดรถอาจลดลง เพราะเป็นช่วงท้ายของโครงการ ดังนั้นเราจึงคงคาดกำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 102 ล้านบาท เติบโต 63% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 63 ล้านบาท ตามจำนวนช่องจอดที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 7.4 พันช่องจอดในช่วงปี 2567 เป็น 4 หมื่นช่องจอด จากทั้งธุรกิจบริการพื้นที่จอดรถ (PS) ที่คาดเติบโต 45% จากปีก่อน ธุรกิจบริหารที่จอดรถ (PMS) เติบโต 12% จากปีก่อน  และธุรกิจ CIPS จะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากโครงการติดตั้งระบบที่จอดรถของ รฟม. มูลค่าเหลืออยู่ 60 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการกลางปี 2567

ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.9% จาก 22.6% ในปี 2566 จากธุรกิจ PMS และ CIPS ที่มี margin สูง อีกทั้งยังมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ด้วย แม้จะมีการเลื่อนรับรู้รายได้จากงาน CIPS มาปี 2567 แต่จะถูกชดเชยจากค่าเสื่อมราคาของโครงการพระนั่งเกล้าที่สูงกว่าคาดไว้ก่อนหน้านี้

Back to top button