ดักเก็บ 2 หุ้นนิคมฯ! รับ BOI ไฟเขียวลงทุน 8 เมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 5.7 หมื่นล้าน

ดักเก็บ 2 หุ้นนิคมฯ! รับประโยชน์ BOI ไฟเขียวงบลงทุน 8 โครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท โบรกชู WHA เด่นสุด


บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(17 มิ.ย.67) ว่า BOI เปิดเผยว่าได้อนุมัติโครงการลงทุนรวม 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 56,947 ล้านบาท (เทียบยอดไตรมาส 1/67 ที่ 2.28 แสนล้านบาท) โดยเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ (1.9 หมื่นล้านบาท), พลังงานสะอาด (1.25 หมื่นล้านบาท), กิจการ Data Center (1.05 หมื่นล้านบาท), กิจการโรงพยาบาล (0.5 หมื่นล้านบาท) และการขนส่งทางอากาศ (0.4 หมื่นล้านบาท) โดยมองจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มนิคม เน้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการลงทุนรวม 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 56,947 ล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานสะอาด กิจการ Data Center กิจการโรงพยาบาล และการขนส่งทางอากาศ ดังนี้

1) โครงการผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Bio-Ethylene) ของบริษัท บราสเคม สยาม จำกัด โครงการนี้เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ต้นน้ำสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกจากไบโอเอทานอล ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียนจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เงินลงทุน 19,313 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพแห่งแรกในเอเชีย และเป็นโรงงานแห่งที่สองของโลก รองจากบราซิล

2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ของบริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด เงินลงทุน 2,855 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะรับขยะมูลฝอยในชุมชนเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง ช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชน

3) โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 12 จำกัด เงินลงทุน 9,396 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากน้ำมันยางดำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล 576 ตัน/ชั่วโมง

4) โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ Cogeneration ของเครือ SCG เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มบริษัท SCG Chemicals เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration 130 เมกะวัตต์ และไอน้ำระบบ Cogeneration 160 ตัน/ชั่วโมง

5) โครงการ Data Center ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด  เงินลงทุน 3,345 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่ 5 ของบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการนี้เป็นการขยายการลงทุนบนพื้นที่ True IDC East Bangna Campus ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

6) โครงการ Data Center ของบริษัทชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center อันดับต้น ๆ ของโลก เงินลงทุน 7,185 ล้านบาท รองรับ IT Load ขนาด 20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ

7) โครงการโรงพยาบาล ของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนลภูเก็ต จำกัด เป็นศูนย์การวินิจฉัยทางการแพทย์ขั้นสูง ในรูปแบบ Boutique Hospital ขนาด 212 เตียง เงินลงทุน 4,960 ล้านบาท รองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับนานาชาติสู่จังหวัดภูเก็ต

8) โครงการขนส่งทางอากาศสำหรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ของบริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด จำนวน 10 ลำ เงินลงทุน 3,893 ล้านบาท รองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

“โครงการที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงานสะอาด กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว การให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งธุรกิจ Data Center ขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของ Digital Transformation, Cloud Computing, IoT และเทคโนโลยี AI ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โครงการลงทุนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับไปสู่เศรษฐกิจใหม่” นายนฤตม์ กล่าว

Back to top button