TRUE โชว์ทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา รองรับเหตุด่วน 24 ชม.

ครั้งแรกในไทย TRUE โชว์ทดสอบ "LIVE - Cell Broadcast Service" แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา พร้อมเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ” เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐเสริมประสิทธิภาพมากขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.ค. 67)ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก  โดย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้มีการจัดทดสอบระบบ “LIVE – Cell Broadcast Service” ผ่านเสาสัญญาณจริง ให้ผู้ใช้งานมือถือทั้งทรูและดีแทคในพื้นที่ได้รับประสบการณ์แจ้งเตือนภัยจริงครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมเยี่ยมชมและร่วมทดสอบ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมและดีใจกับคนไทยที่กำลังจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประโยชน์กับประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ถ้าหากจำได้ปี 2564 เคยมีเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา คนร้ายได้ก่อเหตุตั้งแต่เช้าแล้วมาจบที่ห้างสรรพสินค้าในเวลาเกือบ 2 ทุ่ม ถ้าวันนั้นมีระบบเตือนภัยที่ดีก็คงจะจบเหตุการณ์ได้ตั้งแต่แรก นี่จึงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยเกิดความสูญเสียจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์เรื่องสำคัญที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน ที่มีคนเสียขีวิต 2 ราย จึงเป็นที่มาที่ได้คุยกับกสทช.และทาง TRUEเห็นว่าระบบแจ้งเตือนนี้เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้จึงต้องขอบคุณทรูที่มีการแสดงออกถึงการร่วมกันแก้ปัญหา

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร TRUE  กล่าวว่า เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้พัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ไปอีกขั้นด้วยการนำมาทดสอบการใช้จริง ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งานที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันที และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ระบบ CBS จะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

ทั้งนี้  TRUE ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 67  โดยมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่ การรองรับทุกภาษาระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย นอกจากนี้ยังรสามารถส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ อีกทั้งสามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ สามารถส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า

นอกจากนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของทรูสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย  การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert): การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที  การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย

การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety)  ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบ CBS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Back to top button