“วิรัตน์ฟาร์ม” เผยเคล็ดลับเลี้ยงหมูพันธุ์ ต้นทางสร้างหมูเนื้อปลอดสารกับ CPF

"วิรัตน์ฟาร์ม” เจาะเคล็ดลับความสำเร็จเลี้ยงหมูพันธุ์ ต้นทางสร้างหมูเนื้อปลอดสารกับซีพีเอฟ"


การผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการในปัจจุบันหันมาให้ความสนใจ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตของตนเองตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องดังกล่าว ที่นับวันผู้บริโภคจะยิ่งมุ่งประเด็นมาในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เพียงมองที่ผลผลิตที่ต้องมีมากซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตที่ดีเท่านั้น หากแต่ยังมองไปถึงตลอดกระบวนการผลิตที่ต้องมีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และต้องเป็นต้นทางการสร้างอาหารปลอดภัยด้วย

 

 

วันก่อนมีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อตามไปดูการเลี้ยงสุกรของ “วิรัตน์ พุ่มวิภา” หนึ่งในเกษตรกรคนเก่งในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรพันธุ์แก่เกษตรกรรายย่อยกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เจ้าของ “วิรัตน์ฟาร์ม”  ตำบลกรูด อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ถือว่าเป็นต้นทางสร้างหมูเนื้อปลอดสารกับซีพีเอฟ

วิรัตน์ เริ่มต้นเล่าย้อนอดีตว่า ตนเองเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาช่างยนต์ หลังเรียนจบก็จับงานด้านช่างดังที่เรียนมา จนกระทั่งแต่งงานกับจารี ซึ่งครอบครัวของภรรยาทำอาชีพเลี้ยงหมูพันธุ์ จำนวน 120 แม่ กับซีพีเอฟอยู่แล้ว วิรัตน์จึงมีโอกาสได้ช่วยเลี้ยงหมูด้วย และเนื่องจากความชอบงานด้านการเกษตรเป็นทุนเดิม ทำให้เขายิ่งสนใจและตั้งใจที่จะช่วยงานด้านฟาร์มเลี้ยงหมูของภรรยาให้ประสบความสำเร็จ

 

 

“ตอนที่เริ่มเข้ามาช่วยงานเลี้ยงหมูของที่บ้านแฟน ผมตั้งใจมากเพราะอยากให้หมูที่ผลิตได้ออกมาดีที่สุด เพราะเรารู้ว่าถ้ามีประสิทธิภาพการผลิตดี เลี้ยงลูกหมูให้ได้จำนวนหย่านมมากขึ้น ก็จะมีรายได้ที่ดีตามไปด้วย ซึ่งตัวเราเองชอบเรื่องการเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว จึงพยายามเรียนรู้และพัฒนาเทคนิค นำหลักวิชาการที่บริษัทแนะนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง จนการผลิตพัฒนาขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้” วิรัตน์ กล่าว

จากความตั้งใจจริงของวิรัตน์ควบคู่กับความรับผิดชอบงานที่ดีมาตลอด ทำให้ประสิทธิภาพการเลี้ยงหมูดีขึ้น ช่วยสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้กับครอบครัว เมื่อการผลิตหมูของครอบครัวภรรยาเป็นไปได้ด้วยดี และตนเองมีความชำนาญและความเข้าใจในระบบการเลี้ยงหมูพันธุ์อย่างถ่องแท้ ในปี 2544 วิรัตน์ได้ปรึกษากับภรรยาและครอบครัวรวมถึงซีพีเอฟ ว่าน่าจะขยายกิจการและลงมือทำฟาร์มของตนเองได้แล้ว จึงเกิดเป็น “วิรัตน์ฟาร์ม” เลี้ยงหมูพันธุ์จำนวน 150 แม่ ด้วยเงินลงทุนของตนเองทั้งหมด ตลอดระยะเวลากว่า 14 ปี ที่วิรัตน์ตัดสินใจหันมาจับอาชีพเลี้ยงหมูอย่างจริงจัง ก็ประสบความสำเร็จมาตลอด ดังจะเห็นได้จากอัตราเข้าคลอดที่สูงเป็นอันดับต้นๆของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ ขนาดครอกของลูกหมูเฉลี่ยมากกว่า 11 ตัวต่อแม่ ขณะที่อัตราเสียหายต่ำเพียงร้อยละ 2 ต่อรุ่น ลูกหมูมีน้ำหนักหย่านมสูงถึง 6.82 กิโลกรัมต่อตัว และขนาดลูกจับออกมากถึง 29.40 ต่อแม่ต่อปี

 

 

“เรามองว่าการเลี้ยงหมูเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีและสร้างความมั่นคงให้กับทางครอบครัวได้ เมื่อศึกษาจนรู้จริงแล้วลงมือทำอย่างตั้งใจและมีความพร้อมแล้ว จึงคุยกับบริษัทว่าเราอยากต่อยอดความสำเร็จจากฟาร์มเดิมมาสร้างฟาร์มของตัวเอง และช่วยกันดูแลกันสองคนกับภรรยา ส่วนลูกๆ อีก 2 คน เราให้เขามีหน้าที่ในการเลี้ยงหมูและช่วยพ่อแม่เช่นกัน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้วิธีการที่ถูกต้องและยังเป็นการปูพื้นฐานให้กับพวกเขาที่จะเข้ามารับช่วงต่อในอาชีพของพ่อแม่ต่อไป”  วิรัตน์ บอก

เมื่อถามถึงความภูมิใจ วิรัตน์ บอกว่าเขาภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นน้ำที่ทำหน้าที่เลี้ยงและดูแลแม่หมูอย่างดี เพื่อผลิตลูกหมูหย่านมที่ได้มาตรฐานสำหรับเพื่อนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมเลี้ยงหมูขุน หรือโครงการฝากเลี้ยงได้นำไปเลี้ยงต่อ เมื่อต้นทางคือลูกหมูของเขาส่งไปเป็นหมูคุณภาพ สุขภาพแข็งแรง น้ำหนักได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และเขายังเน้นการสอนให้ลูกหมูกินอาหารเม็ดเป็นตั้งแต่ยังไม่หย่านม เพื่อนเกษตรกรที่นำลูกหมูไปเลี้ยงต่อก็ไม่ต้องเสียเวลาสอนลูกหมูให้กินอาหารอีก หมูก็กินอาหารได้ดีตามมาตรฐาน หมูที่ได้จึงแข็งแรง เติบโตได้เร็วโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งใดๆ สุดท้ายผู้บริโภคก็จะได้บริโภคหมูปลอดภัย

ที่สำคัญการเลี้ยงหมูนี้ยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคง โดยวิรัตน์มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 106,000 บาทต่อเดือน เขาสามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายภายในครอบครัวได้อย่างไม่ลำบาก สามารถสร้างบ้านและซื้อรถยนต์ รวมถึงซื้อที่สวนยางเป็นทรัพย์สินของตนเอง และรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของตนเองและภรรยายังเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกๆทั้งสองด้วย

“ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร เราต้องมีใจรักในงานที่ทำ  ใส่ใจและมีความรับผิดชอบงาน การที่ได้มาเลี้ยงหมูกับทางบริษัท ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในระบบการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงไม่ต้องเสี่ยงกับการตลาดเพราะบริษัทมารับผิดชอบให้ วันนี้ผมพิสูจน์แล้วว่าระบบนี้ สามารถสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อการสร้างอาชีพได้จริง ผมจะยึดอาชีพนี้ไปตลอดจนถึงลูกหลานให้พวกเขาได้ดูแลกิจการเลี้ยงหมู ได้เป็นคนสร้างอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคต่อไป” วิรัตน์ บอกอย่างภูมิใจ

 

 

นอกจากความสำเร็จด้านการเลี้ยงหมูของวิรัตน์ฟาร์มแล้ว ที่นี่ยังถูกเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพเลี้ยงหมูสำหรับเพื่อนเกษตรกรที่หมุนเวียนเข้ามาศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย โดยวิรัตนต์ทำหน้าที่เผยแพร่เคล็ดลับความสำเร็จอย่างไม่หวงวิชา ยิ่งไปกว่านั้นวิรัตน์ฟาร์มแห่งนี้ยังสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนจากการนำมาตรฐานกรีนฟาร์มที่ซีพีเอฟผลักดันให้เกษตรกรทุกคนปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการใช้ระบบไบโอแก๊สที่ช่วยลดทั้งกลิ่นและแมลงวัน รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้นรอบฟาร์มเพื่อช่วยดูดซับกลิ่นอีกชั้น วิรัตน์ฟาร์มจึงเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง

Back to top button