“อิหร่าน”ล้างแค้นให้ผู้นำฮามาส จ่อถล่ม”อิสราเอล” จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3

ศึกตะวันออกกลางร้อนระอุ อิหร่านประกาศลั่น สางแค้นอิสราเอล หลังผู้นำฮามาสถูกสังหารกลางกรุงเตหะราน นักวิชาการหวั่นจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3


จากเหตุการณ์ที่ “อิสมาอิล ฮานิเยห์” ผู้นำฮามาสถูกลอบสังหารในอิหร่าน โดยฝีมือของกลุ่มไซออนนิสต์บุกที่พักในกรุงเตหะราน ขณะที่เขาไปร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่เมื่อวันอังคาร ( 30 ก.ค.67 ) ที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่กำลังร้อนระอุ

จนล่าสุดจะยิ่งทำให้สถานการณ์ร้อนขึ้นไปอีก เพราะ “อยาตอลลาห์ อาลี คาเมเนอี” ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศเอาคืน โดยการเดินหน้าแก้แค้นอิสราเอล จากกรณีการลอบสังหาร ผู้นำกลุ่มฮามาส จึงเหมือนเติมฝืนเข้ากองไฟให้โหมกระพือขึ้นไป

ในมุมมองของ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า กลิ่นคาวสงครามการสู้รบในฉนวนกาซาได้ขยายตัวออกนอกพื้นที่อิสราเอล ไม่ได้จำกัดบริเวณการสู้รบและทำลายล้างกลุ่มฮามาสเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา นับจากนี้ต่อไป อย่าคิดว่า การสู้รบในพื้นที่นี้จะยุติลง ต้องคิดก้าวกระโดดไปว่าโดยต้องคิดต่อไปว่าอิหร่านจะตอบโต้เอาคืนหนักและรุนแรงขนาดไหน และพื้นที่สู้รบจะขยายตัวมากเพียงไร สิ่งที่ต้องคิดในตอนนี้คือเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือแผนอพยพคนไทยออกจากพื้นที่สู้รบ จากนั้นจะต้องคำนึงเรื่องผลกระทบในแง่เศรษฐกิจต่อไปในตอนท้าย

การปะทะกันระหว่างสองประเทศ อาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หากมีการ ถามหาพันธมิตร หรือ ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศที่เป็นมิตร จุดนี้ไทยต้องวางตัวให้ดี อย่าโดดไปร่วมในความขัดแย้งในครั้งนี้ อีกทั้งเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดความร้อนแรงทางการเมืองระหว่างประเทศและเกิดการชุมนุมประท้วงในหลายประเทศ อย่างที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์หลายพันคน เดินขบวนไปตามท้องถนนพร้อมธงปาเลสไตน์ขนาดใหญ่ อีกด้วย” นายนันทิวัฒน์ กล่าว

ส่วนทางด้านความเห็นของ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซา จะทำได้ยากขึ้นไป เพราะ สถานการณ์ขณะนี้ ยกระดับการต่อสู้ไปสู่มิติใหม่และอาจจะมีผลกระทบวงกว้างในอนาคต แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก

สอดคล้องกับ มุมมองของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์  นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่วิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และ อิหร่าน ระลอกนี้ สถานการณ์ดูเหมือนจะดุเดือด แต่หากถอดท่าทีของทั้งสองประเทศดูจแล้ว สถานการณ์ดูจะส่อแววทวีความรุนแรง เพราะคำพูดของสองผู้นำ ที่สาดใส่กันไปมา มีแต่คำขู่ให้ต่างฝ่ายยำเกรง แต่ถามว่าจะถึงขั้นทำสงครามกันหรือไม่ ทั้งสองประเทศ รู้ดีว่า “ไม่คุ้มทุน ที่จะเสี่ยง” เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดสงคราม และขยายวงกว้าง จนกระทบเศรษฐกิจ ถือว่ามีโอกาสน้อยมากๆ และ สถานการณ์ตอนนี้ ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมมาก ปฏิบัติการตอบโต้ของทั้งสองประเทศ มุ่งเป้าไปที่การสังหารผู้นำของอีกฝ่าย รวมถึง ผู้นำกลุ่มฮามาส ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การทำสงคราม ขณะนี้ บรรดานักลงทุนที่อยู่ใน อิสราเอล และ อิหร่าน ยังมีความมั่นใจว่า จะไม่เกิดสงครามที่บานปลาย

หากย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอิสราเอลได้ออกแถลงการณ์ โดยมีใจความสำคัญว่า นับตั้งแต่อิสราเอลโจมตีกรุงเบรุตของเลบานอน มีภัยคุกคามมาจากทุกทิศทาง ซึ่งทางการได้เตรียมความพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ และอิสราเอลจะเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมุ่งมั่นในการต่อต้านภัยคุกคามใด ๆ ซึ่งจะตอบโต้อย่างหนักหน่วง ต่อการโจมตีใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในแถลงการณ์ของผู้นำอิสราเอล ไม่มีการเอ่ยถึงการโจมตีเพื่อสังหารฮานิเยห์ในอิหร่านแต่อย่างใด

ส่วนท่าทีของทางนานาชาติ ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ยกระดับการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในระดับภูมิภาค หลังผู้นำของเฮซบอลลาห์และผู้นำของฮามาสเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งเรื่องนี้อาจนำไปสู่การทำสงครามเต็มรูปแบบในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อว่าการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้มาตรการทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อปกป้องพลเมืองและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง.

Back to top button