VGI ปิดบวก 12% เก็งต่อสัมปทาน “สายสีเขียว” หลังกลุ่มบีทีเอส ชนะคดีกทม.

VGI ปิดบวก 12% เก็งกำไรเก็งต่อสัมปทาน “สายสีเขียว” หลังกลุ่มบีทีเอส ชนะคดีกทม. เพื่อแลกจ่ายหนี้มูลค่า 2.2 หมื่นล้าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(1ส.ค.67)ราคาหุ้นบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 1.82 บาท บวก 0.19บาท หรือ 11.66% ราคาสูงสุด 1.84 บาท ราคาต่ำสุด 1.64 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 446.32 ล้านบาท

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์(31 ก.ค.67) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนคำแนะนำและราคาเป้าหมายปี 67/68 (เดิมแนะนำ Trading Buy ราคาเป้าหมาย 1.70 บาท) โดยมีแนวโน้มปรับลงจากผลการดำเนินงานมีแนวโน้มพื้นช้ากว่าคาด และมองหุ้น VGI ยังไม่น่าสนใจจาก 4 เหตุผล (1) การฟื้นตัวยังไม่มั่นคง (2) มีความเสี่ยงเกิดค่าใช้จ่ายพิเศษ, (3) มีความเสี่ยงสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ธ.ค.72 และ (4) ราคาหุ้นแพงเมื่อเทียบกับกลุ่ม Media

อย่างไรก็ตามระยะสั้นหุ้น VGI มี sentiment บวกจากกรณีกลุ่ม BTS ชนะคดี กทม. ทำให้กลุ่ม BTS และ VGI มีโอกาสได้ต่อสัมปทาน รฟฟ.สายสีเขียวหลัก

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้กรุงเทพมหานครกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน -บางหว้า และช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง) และในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 11,755,077,952.10 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โดยศาลให้เหตุผลว่า การที่กทม.ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่กทม.ถือหุ้น 99.98% เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของกทม.มีความคล่องตัว

ดังนั้น เมื่อบริษัท กรุงเทพธนาคม มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครกับบีทีเอส ทั้งในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2  กทม.จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับบริษัท กรุงเทพธนาคม ให้กับบีทีเอสด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินต้น 2,199,091,830.27 บาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินต้นจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE BTS เปิดเผยว่า หลังจากมีคำพิพากษาดังกล่าว โดยฝ่ายบริหาร BTS ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายกฎหมาย เพื่อพิจารณารายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ชัดเจน และมีแผนนำเงินไปชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดภายในปีนี้ ซึ่งต้องหารือกับฝ่ายการเงินเพื่อดูกำหนดเวลาแต่ละหุ้นกู้ของ BTS ด้วย

ทั้งนี้ BTSC ยังเหลือคดีฟ้องร้องกทม.กับ KT อีก 1 คดี ซึ่งเป็นคดีในลักษณะเดียวกัน คือ คดีที่ BTSC ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้กทม.และ KT ชำระหนี้ O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 มูลค่ารวม 11,068.50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการวินิจฉัยและทำคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยคาดว่าศาลปกครองกลางจะรอดูคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดี O&M คดีแรกที่มีคำตัดสินไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาก่อน เพราะมีลักษณะคดีแบบเดียวกัน เมื่อมีคำตัดสินออกมาชัดเจนแล้วก็จะมีแนวทางการตัดสินในคดีที่เหลือต่อไป

อย่างไรก็ตาม กทม.มีงบประมาณก็เชื่อว่าจะจ่ายให้ BTSC ตามคำสั่งศาล แต่หากไม่มี ก็อาจขอให้รัฐบาลช่วย หรืออาจต้องมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยเห็นว่าเป็นโอกาส BTS เจรจาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย (ที่จะหมดในปี 2572)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีคดี BTSC จะต้องพิจารณาใน 2 มิติ คือ คำสั่งศาลในเรื่องอดีต และการดำเนินการตามสัญญาต่อไป เพราะส่วนต่อขยายที่ 2 ยังมีอายุสัญญาเหลืออีกเป็น 10 ปี ส่วนเงินที่กทม.ต้องชำระแก่ BTSC นั้น คงต้องขอไปพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้จากส่วนใด ที่ผ่านมากทม.พยายามใช้งบประมาณต่าง ๆ อย่างจำกัด เพื่อให้มีเงินเหลือไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณในปี 2568 ก็ยังตั้งงบเท่าเดิมคือ 9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกทม.ยังมีคดีอื่นที่ค้างอยู่ เช่น คดีรถดับเพลิงที่ยังจอดอยู่ที่แหลมฉบังอีกประมาณ 3 พันล้านบาท

Back to top button