เมื่อคดียุบพรรคก้าวไกล กระทบ เศรษฐกิจ – ตลาดหุ้น

เปิดคำร้องและข้อโต้แย้งต่อ “คดียุบพรรคก้าวไกล” หลังศาลรัฐธรรมนัดฟังคำพิพากษา 7 สิ.ค. นี้ ด้านนักวิชาการ – โบรกฯห่วง ผลพวงยุบพรรคก้าวไกล ทำเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า – ตลาดหุ้นผันพวน


หนึ่งในคดีทางการเมือง ที่สังคมกำลังจับตามอง คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้  โดยมีรายงานว่า แกนนำพรรคก้าวไกลได้หารือและวางแนวทางไว้บ้างแล้ว โดยสมาชิกพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะย้ายไปอยู่ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” แล้วสมาชิกพรรคจะพูดคุยกันอีกรอบ ว่า จะเปลี่ยนชื่อพรรคหรือไม่  เรียกง่ายๆ ก็คือ “การเข้าไปเทคโอเวอร์พรรคอื่น” นั่นเอง

มุมมองจากอดีตคนในแวดวงการเมือง อย่าง นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ให้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ฟังว่า ในฐานะคนเคยอยู่ในแวดวงนักการเมือง ยังไม่ปักใจเชื่อ การที่พรรคก้าวไกล จะเลือกใช้วิธี ไปเทคโอเวอร์พรรคที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง เพราะ ย้ายไปกลางคันแบบนี้ มันยากในการสร้างแบรนด์ของพรรคใหม่ หากจะใช้วิธีเทคโอเวอร์พรรคอื่น ควรเลือกพรรคที่มีอุดมคติเดียวกัน มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ยกตัวอย่างเช่น พรรคเป็นธรรม เป็นต้น หรือ อีกทางเลือกหนึ่ง คือ ตั้งพรรคใหม่

 

  • นับถอยหลัง ชี้ชะตา ก้าวไกล

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ สังคมจะได้รู้คำวินิจฉัย “คดียุบพรรคก้าวไกล” ที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง และเข้าข่ายลักษณะการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ หากไล่ไทม์ไลน์ ให้เข้าใจกันง่ายๆ มีข้อมูลคำร้องและข้อโต้แย้งสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

ในฝั่งของ กกต.ในฐานะผู้ยื่นคำร้อง มีการระบุข้อกล่าวหาตามเอกสารไว้ว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยเรื่องพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2)

สำหรับหลักฐานที่ทาง กกต.ยื่นประกอบ คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่พิจารณาว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครองและ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งมีคำสั่งให้พรรคเลิกการกระทำ แสดงความคิดเห็น หรือการเขียน เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112

ขณะที่พรรคก้าวไกลยื่นเอกสารแสดงข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้ว่า กระบวนการยื่นยุบพรรคของ กกต.ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.เป็นผู้ร่างด้วยตนเอง เพราะในเอกสารว่าด้วยเรื่อง การสิ้นสุดของพรรคการเมืองและการเปรียบเทียบปรับ ที่ กกต.ใช้อบรมพรรคการเมือง มีการระบุชัดเจนว่า ต้องให้พรรคการเมืองที่ถูกร้องมีสิทธิในการรับทราบข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และแสดงหลักฐานเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม พรรคไม่เคยมีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงของคดี ในมุมมองของพรรคก้าวไกลจึงมองว่า เป็นการยื่นยุบพรรคที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

นอกจากนั้นพรรคก้าวไกลก็มองว่า ตามระบบของร่างกฎหมายของประเทศ ยังมีแนวทางที่สามารถยับยั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการพิจารณาของรัฐสภา

รวมถึงยังเปิดไม้ตายด้วยการให้ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เป็นพยานสู้คดี พร้อมกับบอกว่า การเข้าชื่อแก้ไขกฎหายของ ส.ส.เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ก็เพื่อแก้ปัญหาในบ้านเมืองและ กกต.ก็เคยยกคำร้องกรณีที่มีผู้ยื่นว่า พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นการหาเสียงพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ไม่ว่าการรณรงค์และการปรากฏตัวในที่ชุมนุมของ ส.ส. ก็ไม่ได้เป็นการกระทำในนามพรรค เป็นการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งต่อกฎหมาย ขณะที่การเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่พรรคการเมืองรับผิดชอบ

ในความเห็นของ นายสุรพล การใช้ข้อหา “ล้มล้างการปกครอง” เพื่อยุบพรรคการเมือง ควรเป็นเรื่องที่แสดงออกชัดเจนว่า พรรคการเมืองนั้นๆ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง และต้องมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีทางอื่นนอกจากยุบพรรค แต่การกระทำของพรรคก้าวไกลถือเป็นการใช้อำนาจ หน้าที่ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวิสัยปกติ อยู่ตามวิถีรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีการให้เหตุผลว่า กระบวนการยื่นยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทิศทางการเคลื่อนไหวของพรรคได้จัดทัพ เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการปล่อยคลิปวิดีโอผ่านช่องทางสื่อสารของพรรคเองก็ดี หรือการแถลงปิดคดีของ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2567) พร้อมทั้งเปิดตัว นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ต่อประเด็นการยุบพรรคการเมือง ณ ที่ทำการพรรค รวมถึงเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามผลพร้อมกันที่พรรคในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวใน ‘โหมดต่อสู้’

สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ถูกดำเนินคดี จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากผลทางคดียุบพรรค ออกมาเป็นลบ นั้นประกอบด้วย  1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล 2.นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล 3.นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ 6.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้ 7.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลาง 8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก 9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.นายสุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน

แหล่งข่าววงในพรรคก้าวไกล เปิดเผยข้อมูลว่า น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีแน้วโน้ม จะได้รับการแต่งตั้งเป็น “ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ภายใต้การทำงานในอุดมคติแบบก้าวไกล

นอกจากนี้ ในวันนี้ ( 2 ส.ค.67 ) มีรายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่ ทำการพรรคก้าวไกลอาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะแถลงสาระเกี่ยวกับคำแถลงปิดคดี เพื่อยืนยัน และ ต่อสู้ไม่ให้พรรคถูกยุบ

 

  • ยุบพรรคก้าวไกล กระทบเศรษฐกิจ

คดียุบพรรคก้าวไกล ถือเป็นคดีทางการเมืองที่สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะ การตัดสินคดีนี้ จะสะท้อนมาตรฐานของกฎหมายไทย และ เสถียรภาพความน่าลงทุนในแง่มุมเศรษฐกิจ

รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมุมคิดหากคำวินิจฉัยศาลฯ สั่งยุบพรรคก้าวไกล จะกระทบภาคการลงทุน กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ต้องทำควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายให้มีความยุติธรรม สร้างมาตรฐานน่าเชื่อถือ จึงจะมีผลให้เกิดสังคมที่เชื่อในกฎหมายและความยุติธรรม นักลงทุน ถึงจะเชื่อมั่นว่าสังคมไทย ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว

ตอนนี้ภาพที่ชัดที่สุด คือ พรรคก้าวไกล เป็นความหวังของสังคมคนรุ่นใหม่ ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นความเป็นอภิสิทธิ์ชน พอภาพออกมาเป็นแบบนี้ นักลงทุน โดยเฉพาะ ชาวต่างชาติ จะไม่ค่อยมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในบ้านเรา เพราะ เขาไม่ไว้ใจในเสถียรภาพด้านกฎหมายและการเมืองรศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าว

ขณะที่ข้อมูลบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า การเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เดือน ส.ค.นี้ อยู่ในกรอบ 1,300 – 1,340 จุด อย่างไรก็ตาม หากระหว่างเดือน ดัชนีสามารถเคลื่อนไหวผ่านระดับ 1,330 จุดไปได้ จะเปิดอัพไซด์ให้แนวต้านของเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 1,340 – 1,360 จุด แต่หากฝ่าแนวต้านดังกล่าวไม่ได้ คาด SET Index จะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ 1,280 – 1,332 จุด

โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือน ส.ค.นี้ คือ เรื่องการเมืองในประเทศ ตลาดกำลังรอฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้

เช่นเดียวกับ บทวิเคราะห์จาก บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า SET Index เดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,288 – 1,350 จุด โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเมืองในประเทศ โดยเฉพาะ คดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดว่า ในช่วงเวลาก่อนรู้ผลตัดสิน จะมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนได้

Back to top button