เก็บหุ้นการบิน-โรงไฟฟ้า-นำเข้า รับอานิสงส์บาทแข็ง 35.21 บาท รอบ 6 เดือน

เก็บหุ้นการบิน-โรงไฟฟ้า-นำเข้า รับอานิสงส์บาทแข็ง 35.21 บาท รอบ 6 เดือน แนะ AAV,BA,GULF,BGRIM,GPSC,RATCH,GUNKUL,SYNEX, SIS เด่น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้(5 ส.ค.67) ค่าเงินบาทระหว่างวันแข็งค่าไปค่อนข้างเร็ว โดยล่าสุด ณ 16.33 น. เงินบาทอยู่ที่ 35.2100 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.67 มาอยู่ที่ระดับ 34.9270 บาท/ดอลลาร์

 

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า มาจากการที่ตลาดกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและแรงขึ้น หลังจากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาไม่ค่อยดีนัก ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น

ส่วนนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงไทยแนะให้ระวังความผันผวนของค่าเงินจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น ตามการปรับสถานะ JPY-Carry Trade หรือสถานะ Short JPY โดยมองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ไว้ที่ 35.00-35.85 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินอีกว่าทิศทางเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.70 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.35 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.34-36.02 บาท/ดอลลาร์ และเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% โดยประธานเฟดระบุว่าอาจพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยเดือนก.ย.หากเงินเฟ้อชะลอตัวตามความคาดหมาย โดยแถลงการณ์ระบุว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ “ค่อนข้างสูง” เทียบกับการประเมินเดิมว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับ “สูง” มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว

ทางด้านเงินเยนพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดรอบ 6 เดือน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ขึ้นดอกเบี้ยจาก 0-0.1% เป็น 0.25% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 51 ตามการคาดการณ์ของเราแต่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ร่วมตลาดบางส่วน และบีโอเจประกาศจะปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรายเดือนลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 1,647 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 22,540 ล้านบาท

ส่วนสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ หลังข้อมูลการจ้างงานเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ออกมาย่ำแย่เกินคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 70% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทั้งนี้ แถลงการณ์นโยบายล่าสุดของเฟดได้ตัดข้อความเดิมที่ระบุว่าเฟด “ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อ” และปรับเป็นข้อความที่ว่าเฟดให้ความสนใจต่อเป้าหมายทั้งภาวะการจ้างงานเต็มที่และการรักษาเสถียรภาพของราคา

นอกจากนี้เรากำลังเห็นความสัมพันธ์ที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและค่าเงินเยน เราเชื่อว่า dynamic ดังกล่าวสนับสนุนมุมมองที่ว่าเงินเยนจบการอ่อนค่ารอบใหญ่ท่ามกลางการลดลงของบอนด์ยิลด์นอกญี่ปุ่น ความผันผวนของตลาดการเงินที่สูงขึ้น ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลง รวมถึงการตัดสินใจด้านนโยบายของบีโอเจที่กระตุ้นให้เกิดการระบายสถานะ yen carry trade อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนสถานการณ์ตลาดในประเทศ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ส่วนเศรษฐกิจในระยะถัดไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่ายังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวแต่คาดว่าการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ต้องติดตามผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐรวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อไป

อนึ่งก่อนหน้าบล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะได้รับผลบวกจาก “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ได้แก่ 1.กลุ่มสายการบิน AAV, BA มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ราว 60% ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง, สำหรับ AAV มีหนี้เป็นดอลลาร์สหรัฐราว 1 พันล้านเหรียญ ทำให้จะมี unrealized FX gain ราว 1 พันล้านบาท จากทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า

 2.กลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เข้ามา อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีและไม่ได้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ทั้งนี้หุ้นที่มี impact จากประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย GULF, BGRIM, GPSC, RATCH,GUNKUL

3) กลุ่มพลังงาน เนื่องจากมี Positive net exposure ต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ต่อสกุลเงินบาท ส่งผลให้อาจจะมีการบันทึก unrealized fxgain สำหรับ PTTGC,TOP, IVL ขณะที่ผลกระทบต่อ PTTEP และ SPRC น่าจะมีจำกัดเพราะมีการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็น functional currency

4) กลุ่ม IT Distributor ได้แก่ SYNEX, SIS เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลดีด้านต้นทุน

Back to top button