“รายย่อย”ร้องขอ“ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้”ยื่นข้อเสนอเข้าร่วม”สวีป”ค่าไฟ EA เพื่อใช้หนี้
"ผู้ถือหุ้นกู้ EA” รวมตัวยื่นหนังสือ ร้องขอ “ธนาคารที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับ “รายย่อย” อย่างเต็มที่ เจราจาเข้าร่วม "สวีป" ค่าไฟ EA เพื่อใช้หนี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (5 ส.ค. 67) กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน หรือ EA ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เนื่องธนาคารทั้ง 2 แห่งเป็น “ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ EA” ตามกฎหมาย
สำหรับข้อความในจดหมายระบุถึง การที่ EA ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิหลายข้อ โดยเฉพาะการไปเจรจาตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย อีกทั้งเรียกร้องให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อเจรจาหาทางออกที่เหมาะสม กับทุกฝ่าย ซึ่งเนื้อหาในจดหมายมีใจความดังนี้
เรื่อง ขอให้พิจารณาข้อเสนอและทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ว่าถูกต้องตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่
เรียน 1. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA248A, EA257A, EA259A, EA261A, EA279A, EA281A, EA297A, EA298A, EA299A, EA301A, EA329A , EA331A และ 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A, EA269A และ EA289A
นอกจากนี้ได้มีการทำสำเนาถึง 1. นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการบริษัท EA 2. นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA 3. รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โดยเนื้อหาได้ระบุว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ EA ได้รับทราบแผนการประชุมสำหรับผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA248A และ EA249A ตามหนังสือเชิญประชุมที่อ้างถึง และได้ศึกษา (ร่าง) ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ EA แล้วมีข้อกังวลสงสัยในวาระการประชุมและข้อเสนอที่ทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้ง KKP และ SCB ได้จัดทำขึ้นร่วมกับ EA ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่ และทาง KKP และ SCB ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ EA ทุกรุ่นอย่างเต็มที่หรือไม่ จึงใคร่ขอให้ช่วยอธิบายชี้แจงตอบประเด็นข้อสงสัยดังต่อไปนี้ให้ผู้ถือหุ้นกู้ EA ทุกรุ่นได้รับทราบ รวมถึงพิจารณาข้อเสนอจากผู้ถือหุ้นกู้และทบทวนแก้ไขแผนการประชุมหากเป็นสิ่งที่ท่านพึงจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
สำหรับประเด็นข้อสงสัยว่า KKP , SCB , EA ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่
1. เจ้าหนี้ Asset plus/ธนาคาร/สถาบันการเงิน ที่ EA เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท และ EA ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินรุ่น EA24723A และ EA24801A กับ Asset Plus ไปแล้วนั้น ตามข้อกำหนดสิทธิ SCB/KKP ควรจะเรียกประชุมหุ้นกู้ทุกรุ่นเพื่อพิจารณาลงมติวาระการประชุมในคราวเดียวกันหรือไม่
2.1 การที่ EA ได้เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ Asset Plus/ธนาคาร และสถาบันการเงินอื่น อีกทั้งจะเรียกประชุมเพื่อเสนอหลักประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้เฉพาะรุ่น 248A และ 249A เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เป็นการริดรอนสิทธิผู้ถือหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่ยังไม่ครบกำหนดหรือไม่
2.2 นอกจากตั๋วเงินที่ครบกำหนดชำระและได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว EA ยังนำหลักประกันไปประกันตั๋วแลกเงินของ Asset Plus รุ่น EA24815A และรุ่น EA24D12A ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระอีกด้วย ดังนั้นหุ้นกู้รุ่นอื่นนอกจาก 248A และ 249A ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ควรจะมีสิทธิในหลักประกันเท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่นเช่นกันหรือไม่
2.3 EA ได้มีการเจรจาตกลงปรับโครงสร้างหนี้กับ Asset plus/ธนาคาร และสถาบันการเงิน โดยเสนอให้หลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากภาครัฐ และเสนอเพิ่มดอกเบี้ยจากเดิมให้เป็นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี และยินยอมที่จะทยอยชำระคืนหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นงวดรายเดือน ภายในกำหนดระยะเวลา 36 เดือน การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นหรือไม่ ถึงแม้ว่าทาง EA จะได้เสนอจะให้หลักประกันเดียวกันกับผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น 248A และ 249A แต่สิทธิในหลักประกันที่ EA ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นนี้ เป็นสิทธิลำดับที่ 2 ซึ่งหมายถึง เป็นกระแสเงินสดที่เหลือจากการใช้คืนหนี้กับเจ้าหนี้สิทธิลำดับที่ 1 เท่านั้น อีกทั้ง EA ยังไม่ได้มีการแจ้งหลักประกันให้กับหุ้นกู้รุ่นที่เหลือ เป็นการกระทำที่ผิดข้อกำหนดหรือไม่
3.1 ในวาระการประชุม EA ได้เสนออัตราดอกเบี้ยใหม่สำหรับการยืดอายุหนี้ดังนี้ หุ้นกู้รุ่น 248A บวกเพิ่มอีก 1.89% หุ้นกู้รุ่น 249A บวกเพิ่มอีก 1.8% ซึ่งน้อยกว่า 2% ที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิ ถือเป็นการกระทำผิดข้อกำหนดหรือไม่
3.2 EA ถูกปรับ credit rating จาก tris rating จาก A- เป็น BB+ ซึ่งถือเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่จะลงทุนได้ อัตราดอกเบี้ยที่เสนอมาถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกู้หรือไม่
4.1 การที่ KKP/ SCB/EA ใช้ดุลยพินิจในการไม่จัดประชุมสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นเพื่อพิจารณาข้อเสนอและผลกระทบจากการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมทั้งอธิบายการจัดสรรหลักประกันของ EA ที่มีต่อเจ้าหนี้ทั้งหมด และเพราะเหตุใดเจ้าหนี้หุ้นกู้ 248A และ 249A จึงได้สิทธิในหลักประกันเป็นลำดับสองรองจากสถาบัน และการกระทำเช่นนี้จะเกิดผลกระทบกับหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ อย่างไร ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลอย่างไม่ครบถ้วน และไม่โปร่งใส ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นที่เหลือไม่ได้ใช้สิทธิอย่างเหมาะสมหรือไม่
4.2 การกำหนดวาระการประชุม วาระที่ 2 ซึ่งให้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอ ( ก) การยืดระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราใหม่ ร่วมกับ ข้อเสนอ (ข) การเพิ่มหลักประกันหุ้นกู้ รวมในวาระเดียวกัน ทั้งที่เป็นเรื่องที่สมควรพิจารณา เงื่อนไขแยกกัน และแยกการลงมติ ถือเป็นการกระทำที่ให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ใช้สิทธิอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
จากประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าและบรรดาผู้ถือหุ้นกู้ EA ทุกรุ่นจึงขอเรียกร้องให้ SCB และ KKP พิจารณาทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ว่าถูกต้องตามข้อกำหนดต่างๆและได้กระทำการเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นอย่างเต็มที่หรือไม่
โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ EA ขอให้โปรดพิจารณาข้อเสนอและทบทวนแก้ไขการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่จะมีขึ้นดังต่อไปนี้
- ขอให้ KKP , SCB , EA เลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ออกไปก่อน
- ขอให้ KKP , SCB , EA จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นพร้อมกันก่อนที่จะกระทำการใดๆเพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นได้ทราบรายละเอียดเงื่อนไขข้อเสนอ และสามารถตัดสินใจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเป็นธรรม โดยใช้ระบบไฮบริด คือ มีทั้ง online และ onsite ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2567
- ขอให้ KKP , SCB , EA แก้ไขวาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้เหมาะสมในการประชุมครั้งหน้า เช่นแยกการพิจารณาลงมติข้อเสนอการยืดหนี้ และข้อเสนอการเพิ่มหลักประกันให้อยู่ต่างวาระกัน เพื่อให้การใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้เป็นไปอย่างเหมาะสม
- ขอให้ EA แก้ไขข้อตกลงที่มีกับ Asset Plus/ธนาคาร และสถาบันการเงิน โดยให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นเป็นเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกัน คือ ลำดับที่ 1 กระแสเงินสดจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่ขายให้รัฐบาล ต้องนำเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับเจ้าหนี้รายอื่น
- เนื่องจากมียอดหนี้หุ้นกู้คงค้างทุกรุ่นเป็นจำนวนมากกว่า 30,000 ล้าน ดังนั้นจึงขอให้ทาง EA นำหลักประกันมาเพิ่มให้เฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้โดยต้องเป็นหลักประกันลำดับที่ 1 ที่ไม่ติดเจ้าหนี้รายอื่น
- สำหรับหุ้นกู้รุ่นที่ขอยืดระยะเวลาไถ่ถอน ขอให้ EA ทำการทยอยชำระคืนเงินต้นและพิจารณาเสนออัตราดอกเบี้ยใหม่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิและเหมาะสมกับความเสี่ยงของหุ้นกู้ตาม credit rating ที่ถูกปรับลดจาก A- เป็น BB+ โดยเงื่อนไขข้อเสนอจะต้องไม่ด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่นที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกัน
- ขอให้ SCB และ KKP แสดงเอกสารการเจรจายืดระยะเวลาชำระหนี้หุ้นกู้หรือปรับโครงสร้างหนี้หุ้นกู้กับ EA ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่น และอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นกู้คัดถ่ายสำเนา
ทั้งนี้หวังว่าทางผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และท่านผู้บริหาร EA จะเข้าใจและเห็นใจผู้ถือหุ้นกู้และทบทวนพิจารณาข้อเสนอข้างต้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นอย่างเสมอภาค.