“กองทุนรวมวายุภักษ์” น้ำหล่อเลี้ยง “ตลาดทุน” ไทย

“กองทุนรวมวายุภักษ์” ถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงที่เข้ามาเติมเม็ดเงินในตลาดทุนไทย จนเป็นที่มาที่รัฐบาลเตรียมปัดฝุ่นเพิ่มวงเงิน เพื่อหวังนำเม็ดเงินมาพยุง SET Index ที่ยิ่งปรับตัวลงเรื่อยๆ และทำให้ตลาดทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง


สถานการณ์ตลาดทุนไทยในปี 2567 ถือเป็นปีที่ไม่สู้ดีสักเท่าไร เห็นได้จากดัชนี SET Index ที่ปรับตัวลงต่ำกว่า 1,300 จุด และทำระดับต่ำสุดที่ 1,274.73 จุด ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย ชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ขาดเม็ดเงินใหม่เข้ามาเติมเพื่อให้สภาวะตลาดเกิดการฟื้นตัว

เป็นที่มาที่ทำให้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง นายพิชัย ชุณหวชิร และทีมเศรษฐกิจ พยายามหาวิธีการ และคิดค้นนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเติมสภาพคล่องของตลาดทุน ตั้งแต่การปรับแก้หลักเกณฑ์ของกองทุน Thai ESG จนมาล่าสุดเตรียมเพิ่มเงินทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 กำหนดวงเงินเสนอขายไว้ที่ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท เป็นการขายเพิ่มเติมจากกองทุนเดิมที่มีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขนาดของกองทุนวายุภักษ์ใหญ่ขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ขนาดของกองทุนวายุภักษ์ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ถือว่า เป็นขนาดที่เต็มวงเงินตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อปี 2556

หากเราย้อนไปดูจุดกำเนิดกองทุนรวมนวายุภักษ์นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ.2546 มีมติ ครม.ให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2546 โดยคาดหวังว่า กองทุนรวมวายุภักษ์ จะทำให้การบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นเครืองมือให้กระทรวงการคลังรักษาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินและความมั่นคงของประเทศได้  การลดภาระของรัฐในการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ การเพิ่มทางเลือกของประชาชนผู้ออมเงินในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ และการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ

กองทุนรวมดังกล่าวจะมีวงเงินเบื้องต้น 100,000 ล้านบาท โดยจะจำหน่ายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไป และจำหน่ายให้กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของกองทุนด้วย และแบ่งกองทุนวายุภักษ์ออกเป็น 2 กองทุน ได้แก่

กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 จะลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจและธุรกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่ ซึ่งประเภทของหลักทรัพย์ที่จะลงทุนได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ใบสำคัญแสดงสิทธิ ตราสารอนุพันธ์อื่น ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน กำหนดเงินปันผลที่แน่นอนไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์บวกส่วนเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 สำหรับการรับซื้อหุ้นคืนจากกองทุนรวม กระทรวงการคลังมีสัญญารับซื้อหุ้นคืนที่แน่นอนในราคาที่ขายบวกด้วยดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการ เท่ากับเป็นการประกันเงินต้นของกองทุนรวม

โดยที่ผ่านมากองทุนฯ มีส่วนในการสนับสนุนการบริหารจัดการหลักทรัพย์ของรัฐและการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนมาโดยตลอด โดยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 กองทุนฯ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนฯ ไม่รวมมูลค่า Put/Call Options เท่ากับ 380,354 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากเมื่อจัดตั้งกองทุนฯ เฉลี่ยร้อยละ 14.96 ต่อปี ส่วนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนฯ เมื่อรวมมูลค่า Put/Call Options เท่ากับ 187,014 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากเมื่อจัดตั้งกองทุนฯ เฉลี่ยร้อยละ 6.75 ต่อปี อัตราเงินปันผลจ่าย (ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนฯ จนถึงสิ้นปี 2555) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.82 ต่อปี และอัตราเงินปันผลจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข.เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.82 ต่อปี

อีกหนึ่งกองทุนรวม คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ 2 ลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรสภาพหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ หรือสิทธิเรียกร้องที่กระทรวงการคลังอาจมีในอนาคต ประเภทของหลักทรัพย์ที่จะลงทุนได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ใบสำคัญแสดงสิทธิ ตราสารอนุพันธ์อื่น ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุน กำหนดเงินปันผลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยหนังสือชี้ชวน  โดยไม่มีการรับประกันขั้นต่ำทั้งเงินต้นและผลตอบแทน สำหรับการรับซื้อหุ้นคืนจากกองทุนรวม กระทรวงการคลังมีสิทธิรับซื้อหุ้นก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นในราคาที่จะตกลงกันโดยอิงราคาตลาด

จากนั้นในปี 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอ ครม.ให้แปรสภาพกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นกองทุนเปิด โดยกระทรวงการคลังทําการจองซื้อหน่วยลงทุน ประเภท ข. ที่ออกใหม่ โดยชําระค่าหน่วยลงทุนประเภท ข. ด้วยกองทรัพย์สินที่กระทรวงการคลังได้รับภายหลังจากการใช้สิทธิและชําระราคาใช้สิทธิซื้อกองทรัพย์สินจากกองทุนรวมตามสัญญาให้สิทธิในการซื้อกองทรัพย์สิน(“Call Option”) โดยให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดของกองทุนในเดือนพฤศจิกายน 2556 ออกไป หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ให้มีการเตรียมการด้านการเงินเพื่อลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำและการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับหลักการทางด้านวินัยด้านการเงินการคลัง

โดยกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่แปลงสภาใหม่ มีลักษณะเป็นกองทุนรวมพิเศษเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ จํานวนเงินทุนของโครงการ 500,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ต่อหน่วย 10.00 บาท จํานวนหน่วยลงทุน 50,000 ล้านหน่วย ราคาของหน่วยลงทุนที่เสนอขายครั้งแรก 10.00 บาท มีนโยบายการลงทุนแบบผสม โดยลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ แต่ไม่กําหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนและการลงทุนตราสารหนี้ ส่วนกลยุทธ์การบริหารกองทุน (Management Style) มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (active management) และมีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนของกองทุน แบบไม่ซับซ้อน

เมื่อตรวจสอบข้อมูลจาก Settrade ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2567 กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ภายใต้การจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย ลงทุนในหุ้น 88.64% พันธบัตรรัฐบาล 7.88% เงินฝากธนาคารP/Nและ B/E 2.35% ที่เหลือเป็นหุ้นกู้ หน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิ

ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำหรับกองทุนวายุภักษ์ในอดีตที่ผ่านมา เป็นกองทุนที่รัฐบาลและประชาชนร่วมกันใส่เงินลงทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ในอดีตที่ผ่านมากองทุนดังกล่าว ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 15% ต่อปี และ นำผลตอบแทนมาจ่ายคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อนำกองทุนฯดังกล่าว กลับมา ต้องรอดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จะมีผลตอบแทนเทียบเท่ากับอดีต หรือไม่

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส คาดการณ์ว่า กระทรวงการคลังนัดแถลงเสนอขายหน่วยลงทุน กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 หวังเป็นกลไกเสริมสร้างการออมและการลงทุนให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบราว 1 แสนล้านบาท และอาจเห็นแรงหนุนจากกองทุนรวมวายุภักษ์มาช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยอีกแรง คาดว่าตลาดหุ้นไทยค่อยๆ ฟื้นและยืนเหนือ 1,300 จุด หลังตอบรับปัจจัยลบทางการเมืองมานาน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ทำการคัดกรองหุ้น 10 อันดับแรก ที่กองรวมทุนวายุภักษ์จะถือครองสูงสุด น่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวกมากกว่าหุ้นอื่นๆ คือ PTT, SCB, TTB, BCP, KTB, AOT, ADVANC, GULF, SCC, BDMS

Back to top button