ส.อ.ท. ห่วง “การเมือง”ไม่นิ่ง ฉุดเศรษฐกิจไทยดิ่ง!
เกรียงไกร แนะ ตั้ง ครม.ชุดใหม่ ไม่ควรกินเวลานาน ห่วง ทำ GDP ประเทศตกต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 14 ส.ค.67 ) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวถึง กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ปมตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก โดยกังวลตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ซึ่งอยากจะให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ไม่อยากให้มีการสะดุด ทั้งระยะกลางและระยะยาว ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ต้องใช้เวลาสะสม และเป็นปัจจัยหนึ่ง ในเรื่องการลงทุนทางภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็จับตาดูการเมืองไทย หากการเมืองไทยมีเสถียรภาพ ทุกอย่างก็ไปด้วยดี ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้ว ถ้าหากการเมืองไทยมีการสะดุด อาจส่งผลให้ต้องเริ่มต้นใหม่ในบางเรื่อง
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรี หลุดจากตำแหน่งทั้งคณะนั้น ก็ต้องมีการเปลี่ยนนโยบายอยู่แล้ว ทั้งเจ้ากระทรวง รวมถึงนโยบายแกนกลางของนายกคนใหม่ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งหากตำแหน่งนายก เว้นว่างนานเท่าไหร่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ตนไม่สามารถประเมินระยะเวลาในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ แต่ขอวิงวอนให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มว่า ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ที่มีกำหนดใช้จ่ายจริงไตรมาส 4 ปี 2567 ต้องมาดูว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปหรือหยุดชะงัก เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะ เป็นความไม่แน่นอน ซึ่งจะต้องดูนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะแถลงต่อไป ส่วนจะกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ไทยหรือไม่นั้น ยังเร็วที่จะตอบ แต่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการวิเคราะห์ว่า ไม่ค่อยดี การที่ตัวเลขภาคส่งออกที่จะโต 1.5 – 2% ขึ้นอยู่กับสงครามโลกที่กำลังจะปะทุขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อทั้งโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่จะฉุด GDP ของโลกและไทยลง ส่วนกำลังซื้อในประเทศกำลังตกต่ำอยู่ SMEs กู้ยืมเงินลำบากมาก จะต้องมีมาตรการมา แก้ปัญหาเหล่านี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเรียกกำลังซื้อกลับมา และการส่งออกกลับมา
ส่วนเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะเดินหน้าต่อหรือไม่นั้น นายเกรียงไกร ระบุว่า ช่วงรอยต่อของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าถึง 8 เดือน ซึ่งเป็นหลุมดำทางด้านการลงทุนภาครัฐ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต้องหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง ครั้งนี้ ก็เช่นกัน ที่อาจจะเกิดความล่าช้าได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยได้ ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายของภาครัฐ จะต้องขับเคลื่อนเม็ดเงินเหล่านี้ให้เบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่องด้วยกลไกที่มีในขณะนี้
“ส่วนการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรายชื่อมีอยู่ 4 -5 ท่าน การที่ทุกคนทราบอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องไปเคยตกลงกัน รวมถึง แบ่งโควต้าว่า ใครจะไปคุมกระทรวงใด ซึ่งกระบวนการอาจจะล่าช้าถึง 2-3 เดือน แต่ ในมุมของภาคเอกชน อยากให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จระยะเวลา 1 เดือน “นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย