ดักเก็บหุ้นการบิน-โรงไฟฟ้า รับอานิสงส์บาทแข็งรอบ 7 เดือน แตะ 34.43 บ.
ดักเก็บหุ้นการบิน-โรงไฟฟ้า-นำเข้า รับอานิสงส์บาทแข็งรอบ 7 เดือน แตะ 34.43 บาท/ดอลลาร์ ชู AAV, BA, GULF, BGRIM, GPSC, RATCH, GUNKUL, SYNEX, SIS เด่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(19 ส.ค.67) ค่าเงินบาทระหว่างวันแข็งเร็ว โดยล่าสุดตามเวลาไทย ณ เวลา 15:56 น. ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 34.423 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน 17 วัน ตามวันที่ 3 ม.ค. 67 อยู่ที่ 34.43 บาท/ดอลลาร์
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 34.30-35.00 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.03 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.84-35.19 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน และปรับตัวผันผวนตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนและเงินฟรังก์สวิส ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ฟื้นตัวขึ้น หลังสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาด โดยเป็นผลของราคาในภาคบริการที่ร่วงลง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9% และดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 3.2% ซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย.64 และใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักลงทุน
อย่างไรก็ตามยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ สดใสเกินคาดและยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงผิดคาดทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ขณะที่ตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 430 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 27,923 ล้านบาท
ทั้งนี้กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า นักลงทุนจะติดตามงานสัมมนาเชิงวิชาการที่เมือง Jackson Hole ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นเจ้าภาพ และมักใช้เป็นเวทีส่งสัญญาณทิศทางนโยบาย โดยเฉพาะในรอบนี้ซึ่งวงจรดอกเบี้ยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่ามีโอกาสราว 27% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 50bp สู่ 4.75-5.00% และมีโอกาส 73% ที่จะลดดอกเบี้ย 25bp สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.
โดยปกติแล้วช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เรามักจะได้รับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ผสมผสานเกี่ยวกับระดับของการชะลอตัว ซึ่งจะเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดการเงิน เราประเมินว่าบริบทแวดล้อมดังกล่าวจะจำกัดแรงขายเงินเยนจากระดับปัจจุบัน
สำหรับปัจจัยในประเทศตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. ขณะที่ในภาพรวมนักลงทุนจะยังรอความชัดเจนเรื่องทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
อนึ่งก่อนหน้าบล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลบวกจาก “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ได้แก่
1.กลุ่มสายการบิน AAV, BA มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ราว 60% ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง, สำหรับ AAV มีหนี้เป็นดอลลาร์สหรัฐราว 1 พันล้านเหรียญ ทำให้จะมี unrealized FX gain ราว 1 พันล้านบาท จากทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า
2.กลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เข้ามา อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีและไม่ได้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ทั้งนี้หุ้นที่มี impact จากประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย GULF, BGRIM, GPSC, RATCH,GUNKUL
3) กลุ่มพลังงาน เนื่องจากมี Positive net exposure ต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ต่อสกุลเงินบาท ส่งผลให้อาจจะมีการบันทึก unrealized fxgain สำหรับ PTTGC,TOP, IVL ขณะที่ผลกระทบต่อ PTTEP และ SPRC น่าจะมีจำกัดเพราะมีการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็น functional currency
4) กลุ่ม IT Distributor ได้แก่ SYNEX, SIS เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลดีด้านต้นทุน