WARRIX ร่วงต่อ 3% วิตก “วิศัลย์” ขายให้ “ไฮ-เทคฯ” 2.5% ผ่าน TSD หวั่นซ้ำรอยปมหนี้สิน

WARRIX ร่วงต่อ 3% หลังพบนายวิศัลย์ขายหุ้นให้ 2.5% ผ่าน “ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์” หรือ TSD อาจเป็นเพียงธุรกรรมชำระหนี้นอกระบบ ฟากก.ล.ต. จี้ผู้บริหาร “วอริกซ์” รายงานข้อมูลเพิ่มเติมกรณีเปลี่ยนผู้ถือหุ้น หลังทำธุรกรรม “จำนำหุ้นนอกตลาด” แจงไม่เข้าข่ายมาตรา 59 ย้ำหากพบกระทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ พร้อมเอาผิดตามกฎหมายทันที


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (27 ส.ค.67) ราคาหุ้นบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ WARRIX ณ เวลา 10:21 น. อยู่ที่ระดับ 3.88 บาท ลบ 0.12 บาท หรือ 3.00% ราคาสูงสุด 3.94 บาท ราคาต่ำสุด 3.82 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 8.81 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นปรับตัวลดลง สาเหตุจากวานนี้ WARRIX แจ้งข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฉบับแก้ไข โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ WARRIX ได้ทำการจำหน่ายหุ้น WARRIX จำนวน 14,942,530 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 2.49 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด

โดยทำรายการผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ซึ่ง “ไฮ-เทค แอพพาเรล” เป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา โดยรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายหลากแบรนด์ และเป็นบริษัทที่มีกำลังผลิตสูง โดยมีโรงงานทั้งหมด 13 โรงงาน ทั้งในประเทศไทยและประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย “ไฮ-เทค แอพพาเรล” มีกลุ่มครอบครัววิตนากร ถือหุ้นรายใหญ่ และมีนายประสิทธิ์ วิตนากร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ใน “ไฮ-เทค แอพพาเรล” มีสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็น 20.32% ในบริษัท

ขณะที่เมื่อวันที่ 23 ส.ค.67 มีรายงานข่าวจาก WARRIX โดยนายวิศัลย์ ระบุว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬามีอัตราการเติบโตสูง ด้วยปัจจัยของเทรนด์สุขภาพ รวมถึงความนิยมชุดแต่งกายสไตล์สปอร์ตที่กลายเป็นแฟชั่น จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “ไฮ-เทค แอพพาเรล” ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกชุดกีฬาที่มีประสบการณ์ยาวนาน โดยตั้งเป้านำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัท มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ซึ่งมองว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเสริมพอร์ทเครื่องแต่งกายของวอร์ริกซ์ให้แข็งแกร่งมากขึ้น และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

สำหรับ “ไฮ-เทค แอพพาเรล” เป็นผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา โดยรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายหลากแบรนด์ อาทิ Nike และ The North Face เป็นต้น และเป็นบริษัทที่มีกำลังผลิตสูง โดยมีโรงงานทั้งหมด 13 โรงงาน ทั้งที่ไทยและประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ “ไฮ-เทค แอพพาเรล” เข้ามาถือหุ้นวอร์ริกซ์จำนวน 14,942,530 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.49%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เคยเกิดกรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ และ/หรือ ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทำการกู้ยืมหนี้นอกระบบจากผู้ลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth) กองทุนส่วนบุคคล หรือ บริษัทที่เป็นรูปแบบนิติบุคคล โดยใช้หุ้นของบริษัทตัวเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับการทำสัญญากู้ยืมเงิน ขณะที่การกู้ยืมในลักษณะข้างต้นมักจะใช้วิธีการคิดอัตราส่วนการให้สินเชื่อโดยเทียบกับมูลค่า หรือ Loan to Value (LTV) ซึ่งผู้กู้ต้องทำการสลักหลังใบหุ้นเพื่อโอนหุ้นให้กับผู้ให้กู้กรณีมีการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา และจะมีการนำไปทำธุรกรรมที่ศูนย์รับฝากฯ เมื่อผู้กู้ต้องโอนหุ้นแก่ผู้ให้กู้

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทำธุรกรรมของนายวิศัลย์ และ “ไฮ-เทค แอพพาเรล” ดังกล่าวนั้น เข้าข่ายเป็นธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหลายเหตุการณ์ในอดีตที่เคยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ ผู้บริหารบริษัทนำหุ้นตัวเองไปจำนำหรือไม่ โดยข้อมูลข่าวสารตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า หากผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ ผู้บริหารของบริษัทใดมีปัญหาด้านหนี้สินส่วนตัวที่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือควบคุมได้ มักจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เชิงลูกโซ่และส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่บนกระดานตลาดหลักทรัพย์ บางกรณีเป็นลักษณะของการถูกบังคับขาย หรือ ฟอร์ซเซลต่อเนื่อง และบางกรณีเป็นลักษณะของการที่นักลงทุนทั่วไปขาดความเชื่อมั่นและเทขายหุ้นออกมา

ขณะเดียวกันหากธุรกรรมระหว่างนายวิศัลย์ และ “ไฮ-เทค แอพพาเรล” เป็นเพียงการที่เจ้าหนี้บังคับยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งกรณีนี้คือหุ้น WARRIX จำนวน 14,942,530 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 2.49 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด นั้นหมายถึงรายงานข่าวที่อ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลของนายวิศัลย์เกี่ยวกับการประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ “ไฮ-เทค แอพพาเรล” ด้วยการเปิดทางให้เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนดังกล่าวถือว่าคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง

พร้อมกันนี้ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการขายหุ้นผ่านศูนย์รับฝากฯถือเป็นการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ขายต้องชำระภาษีเงินได้ตามอัตราที่กำหนดโดยคำนวณจากส่วนต่างของราคาต้นทุนและราคาที่จำหน่ายไป รวมถึงราคาขายเฉลี่ยของนายวิศัลย์ยังมีส่วนลด หรือ Discount จากราคาปิดของวันที่ 21 ส.ค. ถึงกว่า 21% ขณะที่การขายหุ้นเพื่อเปิดทางให้พันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้นโดยปกติมักจะทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นกันบนกระดานรายใหญ่ หรือ “บิ๊กล็อต” เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกรรม ดังนั้นจึงถือว่าธุรกรรมครั้งนี้แตกต่างจากวิธีการส่วนใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ

ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้พยายามติดต่อเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงไปยังนายวิศัลย์ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าตัวได้ อย่างไรก็ตามได้รับแจ้งจากฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ หรือ IR ของ WARRIX ว่าขณะนี้นายวิศัลย์ปฏิบัติภารกิจอยู่ในต่างประเทศจึงอาจไม่สะดวกต่อการตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว ดังนั้นหากสามารถสรุปข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าวได้เพิ่มเติมประการใด ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” จะรีบรายงานให้ทราบต่อไป

ขณะเดียวกัน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หลังจากตรวจสอบและติดตามกรณีดังกล่าว ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยให้ทางศูนย์รับฝาก (TSD) ไปตรวจสอบติดตามการซื้อขายตามที่ผู้บริหารวอริกซ์ได้แจ้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ติดตามการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น พบกรณีนี้เป็นธุรกรรมการนำหุ้นไปจำนำที่เกิดขึ้นนอกตลาดหุ้น โดยมีคู่สัญญา และเกิดข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ดังนั้น กรณีเช่นนี้เอกชนต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเอง

“สำหรับการเปลี่ยนมือของหุ้นดังกล่าวผู้ถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นผู้บริหารมีหน้าที่รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ”

โดยผู้มีหน้าที่ในการรายงานมาตรา 59 ปัจจุบัน ครอบคลุมถึงกรรมการ ผู้บริหาร ผู้บริหารแผน ผู้สอบบัญชี แต่ไม่รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ หากผู้มีหน้าที่รายงาน มีการนำหุ้นไปค้ำประกันและนำไปสู่การบังคับขาย จะต้องรายงานเมื่อถูกบังคับขายหุ้นภายใน 3 วันทำการเมื่อเกิดธุรกรรม (กรณีมูลค่าเกิน 3 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี สำนักงานอยู่ระหว่างทบทวนปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนที่ครบถ้วนทันเวลา เพื่อประกอบการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เกิดผลกระทบและเป็นภาระเพิ่มต่อผู้ร่วมตลาดที่กระทำถูกต้องโดยสุจริตแล้ว

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้บริหารมีการขายหุ้นบริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารดังกล่าวเข้าข่ายมีหน้าที่ต้องรายงานต่อสำนักงานตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบการเปลี่ยนแปลงหุ้นของผู้บริหาร (แต่หากเป็นกรณีการทำสัญญาโดยวางหลักประกันเป็นหุ้นนั้น ยังไม่เข้าข่ายมีหน้าที่ต้องรายงานตอนทำสัญญา แต่มีหน้าที่เมื่อมีการโอนบังคับหลักประกัน) และกรณีบุคคลใดมีซื้อหรือขายหุ้นจนเป็นเหตุให้ข้ามทุกจุดร้อยละ 5 (เช่น ร้อยละ 5 ร้อยละ 10 หรือร้อยละ 15 เป็นต้น) บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องรายงานตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์เช่นกัน

ดังนั้น ทาง ก.ล.ต. จึงให้บริษัทมีชี้แจ้งรายงานข้อมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบริษัทรายงานข้อมูลให้ครบถ้วน หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทาง ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ยืนยันว่ากรณีนี้ ก.ล.ต. มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบ

ทั้งนี้ การนำหุ้นไปกู้ยืมนอกตลาด ยังไม่เกิดการครอบครองและรายงานข้อมูลตามมาตรา 59 ยังครอบคลุมไม่ถึงถือเป็นช่องโหว่ ซึ่ง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการศึกษาและวางกลไกที่ทำให้มีการเปิดเผยรายงานข้อมูลส่วนนี้ เพื่อสร้างความโปร่งให้กับนักลงทุนครบถ้วนมากขึ้น คาดหวังว่าอยากเห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

Back to top button